xs
xsm
sm
md
lg

เอดีบีติงรัฐดึงเอกชนร่วมทุนผ่านโครงการพีพีพี เสี่ยงเป็นภาระหนี้ประเทศระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เอดีบี” ติงรัฐดึงเอกชนร่วมทุนผ่านโครงการพีพีพี เสี่ยงเป็นภาระหนี้ประเทศระยะยาว แนะเปิดเผยข้อมูลให้มีการตรวจสอบ กำหนดกรอบความยั่งยืนทางการคลังในกฎหมาย สร้างความเชื่อมั่นดีกว่าให้เป็นดุลพินิจของ ครม. ด้าน สบน.เสนอแก้กฎหมายปลดล็อกโยกเงินกู้ฝากแบงก์รัฐ หารายได้-ลดต้นทุนดอกเบี้ย

นางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ประจำประเทศไทย กล่าวในการประชุมวิชาการ เรื่อง “การปฏิรูปโครงสร้างหนี้สาธารณะ” ว่า เอดีบีมีการประเมินว่า แนวทางการดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ (พีพีพี) มีความเสี่ยงเป็นภาระหนี้สาธารณะ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีภาระผูกพัน และการทำประกันรายได้ การให้โบนัสผลประกอบการ รวมถึงการทำบัญชีทรัพย์สินที่อาจเกิดปัญหาในระยะยาวได้ ดังนั้น แนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้นจึงควรมีการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้มีการตรวจสอบการดำเนินงานอย่างเข้าถึงได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ มองว่าความเสี่ยงต่อการก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาล ยังเกิดจากการเข้าไปค้ำประกัน และเข้าไปให้ความช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหา เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รวมถึงการใช้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเป็นเครื่องมือในการดำเนินโครงการต่างๆ จนผิดวัตถุประสงค์ ยังถือเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

“แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างหนี้สาธารณะของประเทศไทย เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยแนวทางหนึ่งอาจให้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระด้านการคลัง (Independent Fiscal Agency) ที่ไม่ต้องขึ้นตรงกับหน่วยงานใดเป็นพิเศษ โดยทำหน้าที่ในการประมาณการเศรษฐกิจมหภาค รายรับ และรายจ่ายของภาครัฐบาล การวิเคราะห์นโยบายการคลัง และต้นทุนทางการคลัง รวมถึงการประเมินความเหมาะสมของนโยบายการคลังที่กำลังทำอยู่ว่ามีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มหนี้สาธารณะของประเทศหรือไม่” นางลัษมณกล่าว

น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีอุปสรรคหลายเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการบริหารหนี้สาธารณะ เช่น ข้อจำกัดเรื่องการนำเงินกู้ระยะยาวที่ต้องฝากไว้ในบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง และให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลนั้น จะไม่ได้ดอกเบี้ยจากการฝากเงิน ดังนั้น ควรมีการแก้กฎหมายเพื่อเปิดช่องให้รัฐบาลสามารถนำเงินกู้ระยะยาวดังกล่าวไปฝากกับธนาคารของรัฐ หรือธนาคารพาณิชย์ เพื่อลดต้นทุนด้านอัตราดอกเบี้ย รวมถึงข้อจำกัดด้านการชำระหนี้ ที่ควรมีการปรับเพิ่ม และกำหนดเป็นงบประมาณชำระหนี้ที่ชัดเจน ประมาณ 3% ของงบประมาณรายจ่าย

นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างหนี้สาธารณะของไทยที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การกำหนดกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ควรมีการกำหนดตัวเลขที่ชัดเจนไว้ในกฎหมาย ไม่ควรให้เป็นความเห็นของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากไม่มีความแน่นอน เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตัวเลขกรอบความยั่งยืนทางการคลังมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีความยั่งยืนที่แท้จริง

นอกจากนี้ เห็นว่าภาครัฐควรตระหนักถึงความเสี่ยงด้านภาระการคลังในระยะยาว โดยเฉพาะภาระในส่วนของรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะอ่อนแอ รวมถึงการใช้จ่ายในกองทุนนอกงบประมาณ เช่น กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กองทุนประกันสังคม เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น