xs
xsm
sm
md
lg

สบน. ปรับแผนก่อหนี้ใหม่ เล็งเข็นบอนด์ระยะยาว 50 ปี รับโครงการพื้นฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สบน. เตรียมวางแผนก่อหนี้ระยะยาวมากขึ้น เน้นออกพันธบัตรอายุ 30 ปี และอายุ 50 ปี เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงาน และรองรับโครงการพื้นฐาน เตรียมหารือนักลงทุนเช็กความต้องการ พร้อมเข็นโปรดักต์ตัวให้เหมาะสมต่อตลาด คาดชง ครม. เพื่อประกาศใช้ให้ทันปีงบประมาณ 58

น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า แผนการก่อหนี้ของรัฐบาลในปี 2558 หน่วยงานของ สบน. จะพิจารณาปรับแผนให้เป็นการก่อหนี้ระยะยาวมากขึ้น โดยการออกพันธบัตรรัฐบาล อายุ 30 ปี และ 50 ปี จากเดิมที่มีสัดส่วนประมาณ 30% ก็จะเพิ่มเป็น 40% เนื่องจากได้รับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนในช่วงที่ผ่านมา มีความสนใจที่จะลงทุนในพันธบัตรระยะยาวมากขึ้น เช่น บริษัทประกันภัย ขณะเดียวกัน สบน.สามารถบริหารผลตอบแทนตราสารในระยะยาวได้คล่องตัวกว่า เนื่องจากการให้ผลตอบแทนนั้นไม่ได้มีช่วงต่างกันมาก เมื่อเทียบกับการก่อหนี้ระยะสั้น

ทั้งนี้ สบน.จะมีการหารือกับนักลงทุนที่ร่วมตลาดทั้งหมดเป็นครั้งสุดท้ายในช่วงเดือนกันยายนเพื่อรับข้อเสนอแนะ และแนวโน้มความต้องการของตลาด และออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสม ก่อนสรุปแผนการก่อหนี้ทั้งหมดในปี 2558 โดยจะต้องดูว่าแผนก่อหนี้ที่จะดำเนินการในปีหน้านั้นจะเป็นตัวเลขเท่าไร และเป็นกู้เท่าไร ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศใช้ให้ทันในเดือนตุลาคม หรือให้ใช้ทันปีงบประมาณ 2558

สำหรับโครงการด้านลงทุนที่สำคัญในปี 2558 เช่น โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท โดยจะพิจารณาโครงการที่จำเป็น และทำได้ในปี 2558 ก่อน ซึ่งจากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาเป็นรายโครงการแล้วว่า จะต้องใช้เงินงบประมาณเท่าไร และเหลือเป็นเงินกู้จำนวนเท่าไร เบื้องต้นมูลค่าโครงการดังกล่าวที่ใช้ในปี 2558 จะอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท

โดยในส่วนวงเงิน 1.5 แสนล้านบาทนั้น แบ่งเป็นการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 จำนวน 2 หมื่นล้านบาท สบน.กู้เพื่อลงทุน จำนวน 6.5 หมื่นล้านบาท จัดให้มีการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุน พีพีพี จำนวน 7,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่รัฐวิสาหกิจจะกู้เพื่อลงทุนอีก 2 หมื่นล้านบาท และใช้รายได้ของรัฐวิสาหกิจตนเองอีก 4.3 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถสรุปได้ในการประชุมแผนการบริหารหนี้ปี 2558 ในครั้งถัดไป

น.ส.จุฬารัตน์ กล่าวว่า แผนบริหารหนี้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่เหลือของปีงบประมาณ 2557 แบ่งเป็นการกู้เพื่อชดเชยขาดดุล 6.2 หมื่นล้านบาท และการปรับโครงสร้างหนี้เดิม 1.3 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐวิสาหกิจกู้เพิ่ม 3.8 หมื่นล้านบาท และปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 4.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้การก่อหนี้ของรัฐบาลในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีอยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท และรัฐวิสาหกิจอยู่ 8 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี การก่อหนี้ในระดับดังกล่าวจะส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2558 เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2557 ที่อยู่ที่ 47% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 46% ซึ่งตามแผนการลงทุนจะมีความยืดหยุ่น สอดคล้องต่อกรอบการจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในปี 2560 ของสำนักงบประมาณ

ขณะที่สัดส่วนการก่อหนี้ทั้งระบบ มีมูลค่าล่าสุดอยู่ที่ 9.21 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการก่อหนี้โดยรัฐบาล 38% การก่อหนี้จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 31% หนี้ของรัฐวิสาหกิจ 8% การก่อหนี้ของเอกชน 22% และต่างชาติที่เข้ามาระดมทุนในไทย 1.03% คาดว่าในปี 2558 การก่อหนี้โดยรวมจะเกิน 10 ล้านล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น