xs
xsm
sm
md
lg

ADB คาดจีดีพีโต 2.9% แนะรัฐทบทวนนโยบายไม่เอื้อพัฒนาอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เอดีบี” คาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้โต 2.9% หากมีรัฐบาลในครึ่งปีแรก แต่ถ้ายืดเยื้อถึงครึ่งปีหลังมีความเป็นไปได้ว่าจะต่ำกว่า 2% ชี้ปัญหาท้าทายของไทย นโยบายภาครัฐที่ออกมาไม่เน้นการพัฒนาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน แนะตั้งองค์กรที่ปรึกษาในการพิจารณาให้ความรู้แก่รัฐสภา-สาธารณชน

นางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB เปิดเผยว่า เอดีบี คาดการณ์จีดีพีไทยในปี 2557 จะเติบโตที่ 2.9% ภายใต้สมมติฐานไทยจะมีรัฐบาลที่มีอำนาจในการบริหารจัดการได้เต็มที่ในครึ่งปีหลัง และมีอัตราการเติบโตได้ดีขึ้นในปีหน้าที่ระดับ 4.5% แต่หากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในครึงปีแรก ก็คงต้องมีการทบทวนตัวเลขใหม่ ซึ่งคาดว่าอาจจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 2%

ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ 5.5-6% การลงทุนภาคเอกชนโต 1-1.5% การบริโภคเติบโต 1.5-2% และการลทุนภาครัฐอาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะแม้จะมีรัฐบาลใหม่ได้ในครึ่งปีหลังแต่กระบวนการด้านงบประมาณก็คงจะล่าช้าออกไปอยู่ดี

“ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปในทุกภาคส่วน การลงทุนภาครัฐชะงักงัน ลงทุนภาคเอกชนก็รอดูท่าทีก่อน และบริโภคภาคเอกชนก็ถูกกดดันจาก 3 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่ ความมั่นใจของผู้บริโภค เงินค่าจำนำข้าวที่ค้างอยู่ และหนี้ครัวเรือนที่สูงทำให้ปัจจัยภายในที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทบไม่มี”

อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มที่ดีขึ้นของประเทศที่พัฒนาแล้วที่น่าจะมีอัตราการเติบโตที่ดีขึ้น โดยคาดว่าจีดีพีของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จะเติบโตได้ 1.9% จาก 1% ในปี 56 ซึ่งก็จะช่วยด้านการส่งออกของไทยด้วย ขณะที่เศรษฐกิจของจีน แม้ว่าจะเติบโตชะลอลงที่ 7.5% ในปีนี้ จาก 7.7% ในปี 56 แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง และหากการปฏิรูปเศรษฐกิจสำเร็จก็จะส่งผลดีในระยะยาวด้วย

สำหรับผลกระทบจากการลดวงเงิน QE ของสหรัฐฯ นั้น ก็คงจะส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน-ตลาดทุนของประเทศในแถบเอเชียอยู่บ้าง โดยประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบมาก จะเป็นประเทศที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และขาดดุลทางการคลังเป็นจำนวนมากต่อเนื่องกัน ขณะที่ไทย ยังมีสัดส่วนการขาดดุลทั้ง 2 ประเภทเพียงเล็กน้อย และหากสถานการณ์ปีหน้่าดีขึ้น ก็น่าจะกลับมาเกินดุลได้ จึงไม่น่าจะมีปัญหาด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

นางลัษมณ กล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญเป็นเรื่องของปัญหา หรือความท้าทายของทางด้านนโยบายของไทยที่ผ่านมาก็คือ นโยบายของรัฐบาลที่ออกมาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น โครงการรับจำนำข้าว โครงการรถยนต์คันแรก มีการออกแบบนโบายที่ดีพอหรือไม่ ผู้ที่ได้รับประโยชน์มีผลอย่างแท้จริงเป็นไปตามเป้าหมายคือ กลุ่มประชากรที่อ่อนแอหรือไม่ และที่สำคัญคือ ผลที่ตามมาเป็นปัญหาต่อความยั่งยืนทางการคลังหรือไม่

ทั้งนี้ ข้อเสนอของนักวิชาการที่น่าสนใจที่จะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องนี้ เช่น การจัดตั้งสถาบันประเภทเดียวกับ US Congressional Budget Office เพื่อทำหน้าที่ในการวิเคราะห์เพื่อให้ความรู้ และข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจแก่รัฐสภา และสาธารณชน รวมถึงให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยาย และตรวจสอบการดำเนินนโยบายมากขึ้นทำได้ โดยการสนับสนุนการจัดตั้ง และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่องค์กรหรือหน่วยงานด้านวิจัย และหน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไร

“จากนโยบายที่ผ่านมาของรัฐบาลทำให้เราอดที่จะตั้งคำถามต่างๆ เหล่านั้น และหวังว่าในระยะต่อไปการออกแบบนโยบายควรเป็นไปเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และช่วยลดระดับความเหลื่อมล้ำของประชากร ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญของภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสาธารณสุข หรือการศึกษา”

**คาด กน.คงดอกเบี้ยจนปลายปี**

ส่วนทิศทางดอกเบี้ยนโยบายนั้น จากที่เราคาดการณ์ว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ (กนง.) ครั้งก่อนจะยังคงดอกเบี้ยไว้ แต่เมื่อได้มีการปรับลดดอกเบี้ยไปแล้ว ในช่วงที่เหลือของปี กนง.น่าจะมีการคงดอกเบี้ยไว้ในระดับนี้ เนื่องจากทิศทางดอกเบี้ยต่างประเทศเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้นแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น