ผู้จัดการตลาดหุ้น mai เผยโครงการ 1 จังหวัด 1 บริษัทจดทะเบียนคืบหน้าอย่างดี มีบริษัทฯ จำนวนมากเข้าร่วม โดยอยู่ในช่วงของการจัดทำระบบบัญชีให้ได้ตามมาตรฐาน ก.ล.ต. โดยกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม บริษัทฯ ที่ประกอบธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจประเภท Health & Cuisine แนวโน้มอนาคตไกล ขณะที่กลุ่มธุรกิจ Venture Capital ต้องการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นจำนวนมาก แต่มีอุปสรรคหลายอย่าง ทำให้สิงคโปร์สบโอกาสดึงเข้าไปสร้างกำไรไม่น้อยกว่า 10 บริษัท และแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นหากยังไม่แก้ช่องโหว่
นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ mai กล่าวว่า ขณะนี้โครงการ 1 จังหวัด 1 บริษัทจดทะเบียนโดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กของไทยมีความเข้มแข็งในการประกอบธุรกิจ สามารถแข่งขันได้กับบริษัทจดทะเบียนในประเทศ และเติบโตไปยังต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นทางเลือกในการเป็นแหล่งระดมทุนให้บริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กอีกด้วย โดยขณะนี้ตลาดหุ้น mai อยู่ในช่วงของการพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่ผ่านกรอบข้อตกลงตามระเบียบการจัดทำบัญชีของทางสำนักงาน ก.ล.ต. โดยจะเน้นกลุ่มที่เป็นบริษัททางเลือกใหม่ๆ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม บริษัทฯ ที่ประกอบธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจประเภท Health & Cuisine
“ตลท.และ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ตลอดทั้งกลุ่มวิสาหกิจ หรือ SME ที่ต้องการแสวงหาแหล่งเงินในการระดมทุนเพื่อสร้างความเติบโตของเศรษฐกิจ และการแข่งขันกับบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ โดยขณะนี้ได้มีบริษัทเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายบริษัทได้อยู่ในเกณฑ์ระบบการจัดทำบัญชีของทางสำนักงาน ก.ล.ต.ให้มีมาตรฐานตามแบบบัญชีบริษัทจดทะเบียนไทย”
ขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ mai ก็ได้ให้การสนับสนุนกลุ่มธุรกิจประเภท Venture Capital ด้านดิจิตอล อีโคโนมี (Digital Economy) ตามแนวทางการเสนอแนะของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งมีหลายบริษัทที่มีความจำนงในการเข้ามาจดทะเบียนเพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ยังติดอยู่ในระเบียบข้อกฎหมาย การจัดทำภาษี และกำไรส่วนเกินทุน (Capital Gain) แต่ทั้งนี้ในอนาคตแนวโน้ม ดิจิตอล อีโคโนมี อาจจัดตั้งเป็นกองทุน Fund of Fund เพื่อเข้าไปลงทุนในกองทุนขนาดเล็ก เพื่อเป็นช่องทางช่วยสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ Venture Capital ได้ อีกทั้งยังได้เตรียมที่จะร่างเสนอข้อกฎหมายในการลดหย่อนภาษี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจประเภทนี้เพิ่มมากขึ้น
“กลุ่มธุรกิจประเภท Venture Capital ด้านอุตสาหกรรมไอที มีความสนใจที่จะเข้ามาแสวงหาแหล่งระดมทุนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ยังติดอุปสรรคในหลายๆ ด้าน ทั้งข้อกฎหมาย และระเบียบต่างๆ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการบริษัทสิงคโปร์เห็นช่องทาง และโอกาสทำกำไรจากธุรกิจประเภทนี้ จึงได้ขอให้กลุ่มธุรกิจประเภท Venture Capital ของไทยเข้าไปจดทะเบียนในสิงคโปร์แล้วขณะนี้ มีไม่ต่ำกว่า 10 บริษัท และเตรียมที่จะมีเข้าไปเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก”
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ยังเป็นผลกระทบหลักต่อการพัฒนาบริษัทจดทะเบียนไทยขณะนี้ คือ ผู้จัดทำ และตรวจสอบบัญชียังมีจำนวนไม่มากพอต่อความต้องการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งมีบุคลากรเพียง 170 คน จาก 120 บริษัท ต่อการตรวจสอบบัญชีที่ผ่านการรับรองจาก ก.ล.ต. ในการตรวจรับรองบัญชีทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยประมาณ 600 บริษัท นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในส่วนของการขาดแคลนบุคลากรด้านวิเคราะห์สินเชื่อ (Financial Analyst) ผู้ตรวจสอบบัญชี (Auditor ) ผู้บริหารด้านการเงิน (Chief Finance Officer) และสมุห์บัญชี เป็นต้น