xs
xsm
sm
md
lg

ชี้สภาพคล่องในระบบ ศก.ไม่ตึงตัวจนกดดันทิศทางอัตรา ดบ.นโยบาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“แบงก์ชาติ” ยันสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจไม่ตึงตัวจนกดดันทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนอนาคตจะเกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดผลจากการลงทุนตามโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ไม่น่าห่วง ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพประเทศ ส่วนการปรับเกณฑ์ระยะเวลาเอ็นพีแอลในระบบข้อมูลเครดิตแห่งชาติแค่ 8 ปี จะดึงสหกรณ์เข้าระบบด้วย เผยประเดิมแล้ว 4 แห่ง

นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้สภาพคล่องระบบเศรษฐกิจไม่ได้ตึงตัว และปัจจุบัน ธปท.ยังคงดูดสภาพคล่องส่วนเกินออกจากระบบอยู่ ขณะที่สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง ขึ้นอยู่กับการเลือกแหล่งเงินทุนให้เหมาะสมต่อต้นทุน ซึ่งจะส่งผลต่อกลยุทธ์อัตราดอกเบี้ย ทำให้เริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์บางแห่งระดมเงินฝากเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาฐานลูกค้ามากกว่า ฉะนั้น ปัจจุบันเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจยังมีเพียงพอ จึงไม่มีผลต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ส่วนความกังวลขาดดุลบัญชีเดินสะพัดผลจากการนำเข้าช่วงมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนั้น นายจิรเทพ กล่าวว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอ่อนๆ เป็นสิ่งที่ดีในช่วงที่ประเทศกำลังพัฒนา ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจด้วยการลงทุน ซึ่งประเทศรอคอยการลงทุนมานานแล้ว จึงมองว่าถ้าต่อไปเกิดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดด้วยเหตุผลนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าห่วง และขณะนี้ ธปท.กำลังติดตามการเร่งตัวการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งมองว่าน่าจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปและการลงทุนจะค่อยๆ เกิดขึ้น

นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตได้ให้ความเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์ระยะเวลาการส่งข้อมูลสมาชิกบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) โดยกำหนดให้ลูกหนี้ในกลุ่มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ่งค้างชำระหนี้ 90 วันขึ้นไป จะปรากฏในฐานข้อมูลเครดิตบูโรเป็นเวลา 8 ปี (สถาบันการเงินส่งข้อมูลลูกหนี้ค้างชำระ 5 ปี และให้แสดงข้อมูลลูกหนี้ต่อไปอีก 3 ปี) จากปัจจุบันสถาบันการเงินต้องส่งข้อมูลลูกหนี้ดังกล่าวจนกว่าชำระหนี้เสร็จสิ้น ว่า จะให้กลุ่มสหกรณ์ และชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทเป็นสถาบันการเงิน ซึ่งสามารถเป็นสมาชิกเครดิตบูโรได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีลูกหนี้รายย่อยเข้าข่ายนี้ประมาณ 6 แสนราย หรือติดเป็น 95% ที่ได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงหลักเกณฑ์นี้ ซึ่งมียอดคงค้างหนี้ไม่มาก และส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้สมัยปี 41 ส่วนที่เหลืออีก 5% เป็นลูกหนี้กลุ่มนิติบุคคล ฉะนั้น การดำเนินการเช่นนี้จะช่วยให้ลูกหนี้รายย่อยเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินได้ นับว่าได้ประโยชนทั้งลูกหนี้ และสถาบันการเงิน ขณะที่เปิดโอกาสให้สหกรณ์เป็นสมาชิกเครดิตบูโรได้ตามความสมัครใจ ถือเป็นการสร้างโอกาส ลดความผิดพลาด รวมทั้งลดการปฏิเสธสินเชื่อด้วยเหตุผลไม่มีประวัติตรวจสอบได้

โดยปัจจุบันมีสหกรณ์สนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโรทั้งสิน 4 แห่ง ได้แก่ 1.สหกรณ์สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 2.สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น 3.สหกรณ์อิสลาม อิบนูอัฟฟาน 4.สหกรณ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
กำลังโหลดความคิดเห็น