ส.อ.ท.คาดเงินจำนำข้าว และมาตรการกระตุ้น ศก.ของ “คสช.” ที่เริ่มทยอยออกมาจะทำให้แรงซื้อของประชาชนฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้ยอดขายสินค้าในช่วงครึ่งปีหลังกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับภาคการลงทุนที่ชะลอออกไปก็จะเริ่มขยับเดินหน้า ค่ายรถยนต์คาด Q4 ยอดขายฟื้นชัดเจนแต่จะคงเป้าหมายผลิตได้หรือรอเคาะ ก.ค.นี้ ขณะที่เครื่องจักรกลการเกษตรรับอานิสงส์ แต่ทั้งปียังคงโตติดลบ
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดนโยบายให้เร่งทยอยจ่ายเงินจำนำข้าวให้แก่ชาวนาประมาณ 9 หมื่นล้านบาท และมาตรการอื่นๆ ที่กำลังทยอยดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มกลับมา ดังนั้นคาดว่ายอดจำหน่ายสินค้าภายในประเทศภาพรวมครึ่งปีหลังจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
“ยอดขายจะทยอยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไปเนื่องจากมีเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มจากเม็ดเงินจำนำข้าว อีกส่วนหนึ่งผู้บริโภคเชื่อมั่นมากขึ้นเพราะที่ผ่านมาผู้บริโภคบางกลุ่มไม่ใช่ไม่มีเงินแต่หมดอารมณ์จะชอปปิ้งเพราะการเมืองส่วนนี้จะกลับมาเช่นกัน ส่วนเงินจำนำข้าวจะเห็นผลชัดกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องก่อน เช่น เครื่องจักรกล ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ รถจักรยานยนต์ กระบะ สินค้าอุปโภคและบริโภค และสินค้าอุตสาหกรรมที่จำหน่ายในประเทศ ซึ่งเราเห็นว่าภาพรวมนี้น่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มได้ราว 0.8% จึงเป็นที่มาว่าทำไมเอกชนจึงประเมินว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีปีนี้จะโตได้ 2.2-2.5%” นายวัลลภกล่าว
สำหรับการลงทุนที่ก่อนหน้าชะลอไปตามทิศทางเศรษฐกิจและปัญหาการเมืองเมื่อการบริโภคที่เพิ่มขึ้นก็ย่อมทำให้โอกาสการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นตามมาด้วยในระยะยาวประกอบกับการที่ คสช.ได้เร่งจัดทำงบประมาณปี 2558 แบบขาดดุลถึง 2 แสนกว่าล้านบาท และยังมีแนวนโยบายที่จะผลักดันการลงทุนระบบรถไฟรางคู่ รวมถึงโครงการบริหารจัดการน้ำบางส่วน และที่สำคัญหากมีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) เพื่อเร่งอนุมัติการลงทุนที่ค้างพิจารณาอีกกว่า 7 แสนล้านบาท ทั้งหมดจะทำให้ความเชื่อมั่นการลงทุนไทยฟื้นตัวอย่างมากในครึ่งปีหลัง
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.กล่าวว่า การที่รัฐได้ทยอยจ่ายเงินค้างหนี้ให้ชาวนาจะส่งผลต่อยอดขายรถยนต์เริ่มดีขึ้นในปลายไตรมาส 3 และจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนในไตรมาส 4 อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการผลิตรถยนต์ปีนี้ที่ 2.4 ล้านคัน ล่าสุดทางผู้ประกอบการกำลังเร่งรวบรวมแผนการทำตลาดส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศที่จะเสร็จในสิ้นเดือนนี้ คาดว่าเดือน ก.ค.น่าจะชัดเจนว่าจะคงเป้าหมายหรือลดเป้ามากน้อยเพียงใด
“ที่ผ่านมาการที่ชาวนาไม่ได้รับเงินจำนำก็มีผลกระทบต่อการผ่อนรถและการซื้อรถใหม่โดยเฉพาะจักรยานยนต์ กระบะ ซึ่งเมื่อเงินเข้ามาปัญหานี้ก็จะทะลุและจะทำให้การซื้อรถคันใหม่กลับมาเพิ่มไตรมาส 4 แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมายอดขายในประเทศลดลงต่อเนื่องอาจไม่สามารถไปชดเชยส่วนนี้ได้มากนัก แต่จะปรับเป้าหมายหรือไม่ขอดูแผนการผลิตของทุกค่ายรถก่อน ส่วนการลงทุนของค่ายรถยนต์นั้นหาก คสช.มีแผนการลงทุนโครงการบริหารจัดการน้ำได้จะฟื้นความเชื่อมั่นให้กับค่ายรถยนต์ต่างชาติอย่างมาก” นายสุรพงษ์กล่าว
นางพัชรินทร์ โพธิ์ศิริสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ส.อ.ท.กล่าวว่า เงินจำนำข้าวที่จะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจนั้นจะเป็นปัจจัยบวกให้กับกลุ่มฯ โดยยอดขายน่าจะเริ่มดีขึ้นในอีก 3- 6 เดือนข้างหน้านี้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก 5 เดือนแรกของปีนี้ยอดขายของผู้ผลิตเครื่องจักรกลและเครื่องมือเกษตรลดลงไปกว่า 30-40% ซึ่งเป็นผลกระทบจากทั้งเศรษฐกิจซบเซา ราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง ตลอดจนชาวนาไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว แม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นแต่ยอดขายโดยรวมปีนี้ไม่น่าจะสามารถกลับมาเป็นบวกได้