xs
xsm
sm
md
lg

เคลีสซิ่งรับสภาพสินเชื่อวูบตามยอดขายรถ-เข้มคุณภาพหนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลีสซิ่งกสิกรไทยระบุจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ยอดขายรถวูบ ทำสินเชื่อเช่าซื้อชะลอตัวตาม โดยไตรมาสแรก สินเชื่อคงค้าง 88,875 ล้าน โต 5.39% ขณะที่ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 15,336 ล้าน ลด 27.35% กำไรสุทธิ 135.8 ล้าน เพิ่มขึ้น 0.45% พร้อมจับตาคุณภาพหนี้ หวังครึ่งปีหลังโงหัวได้

นายอัครนันท์ ฐิตสิริวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า จากการที่เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในช่วงที่ชะลอตัว ส่งผลให้การเติบโตของยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อรถในระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1ขยายตัวไม่ถึง 1% ในขณะที่สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในช่วงต้นปีนี้ที่ยังคงหดตัวจากตัวเลขยอดขายรถยนต์ในช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.57) รวม 224,171 คัน ลดลง 45.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ยอดขายจำนวน 413,256 คัน ซึ่งเชื่อว่ายอดขายรถยนต์ทั้งปีนี้ไม่น่าถึง 1 ล้านคันอย่างที่คาดการณ์กันไว้ โดยรถยนต์ขนาดเล็กหรือเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1,500 ซีซีจะหดตัวมากกว่ารถกระบะหรือรถยนต์เชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ลีสซิ่งกสิกรไทยต้องดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง หันมาเน้นคุณภาพของลูกค้ามากขึ้น ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 สามารถปล่อยลีสซิ่งรถยนต์และสินเชื่อเช่าซื้อใหม่ได้รวม 15,336 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 27.35% แบ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์ใหม่ (HP&FL) 8,488 ล้านบาท ลดลง 6.49% และสินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (Floorplan) 6,849 ล้านบาท ลดลง 43.08% ด้านยอดสินเชื่อคงค้าง (Outstanding Loan) ของบริษัทอยู่ที่ 88,875 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 5.39% และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL อยู่ที่ 0.91% มีกำไรสุทธิที่ 135.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนประมาณ 0.45%

ทั้งนี้ คาดว่าภาพรวมสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในระบบในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2557 จะยังชะลอตัว โดยการเติบโตของยอดคงค้างสินเชื่อในระบบฯ ยังอยู่ใต้แรงกดดันให้มีทิศทางชะลอตัวลงอยู่ในช่วงใกล้ 0% จากปัจจัยหลักเรื่องผลของฐานที่สูงในปีที่แล้ว จากการเร่งส่งมอบรถยนต์ในโครงการรถคันแรก ประกอบกับในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ปัญหาการเมืองที่ยังไม่ยุติ ส่งผลให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบเชิงลบ ซึ่งรวมถึงความต้องการซื้อรถทั้งเพื่อการอุปโภคและเชิงพาณิชย์ที่ลดลงอย่างชัดเจน

"ตลาดรถยนต์น่าจะหดตัวต่อเนื่องไปเกือบตลอดทั้งปี โดยเฉพาะรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ที่จะหดตัวสูงกว่ารถประเภทอื่น จากกำลังซื้อที่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ในเชิงพาณิชย์ เช่น รถกระบะ 1ตัน และรถบรรทุกต่าง ๆ จากการลงทุนที่ชะลอตัวลง และจากปัจจัยสถานการณ์ทางการเมือง ทั้งนี้ มีเพียงตลาดรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ที่มีโอกาสขยายตัว โดยช่วงไตรมาสที่ 1 ปีนี้ มียอดจดทะเบียนเฉลี่ยกว่า 5,000 คันต่อเดือน จากปีที่แล้วมียอดจดทะเบียนเฉลี่ย 4,000 คันต่อเดือน"

นายอัครนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้ทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและบรรยากาศในการซื้อรถยนต์ใหม่นั้นยังคงอยู่ในภาวะซบเซาเมื่อเทียบกับช่วงปีที่ผ่าน ๆ มา อุตสาหกรรมรถยนต์จึงอาจจะต้องรอช่วงครึ่งหลังของปี 2557 เพื่อดูสัญญาณการฟื้นตัวของตลาด ซึ่งหากสถานการณ์การเมืองเริ่มนิ่งมากขึ้น ก็อาจจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยดึงตลาดให้ฟื้นตัวง่ายขึ้น เนื่องจากการดำเนินงานต่าง ๆ ของภาครัฐก็น่าจะเดินหน้าได้บ้าง ภาคเอกชนก็น่าจะมีความเชื่อมั่นในการลงทุน ซึ่งก็อาจจะส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนเริ่มฟื้นตัวได้ในระดับหนึ่ง ทำให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในช่วงไตรมาส 3-4 มีโอกาสจะกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นได้

"ผลกระทบจากโครงการรถคันแรก และกำลังซื้อที่ลดลงนับเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับทั้งผู้ผลิตรถยนต์ และผู้จัดจำหน่าย เพราะแค่การออกรถยนต์ใหม่คงไม่เพียงพอในช่วงนี้ ขณะที่ลีสซิ่งผู้ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อก็มีความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้ที่ต้องระมัดระวัง แต่ก็ยังมีส่วนของแคมเปญที่จะร่วมกับค่ายรถยนต์อยู่เป็นช่วงๆแล้วแต่ความเหมาะสม"
กำลังโหลดความคิดเห็น