xs
xsm
sm
md
lg

BBL ชี้ค้าขายลงทุนพม่าคึกคัก ธุรกิจขนาดกลาง-เล็กจ่อคิวลุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“บัวหลวง” เผยพม่ายังน่าสนใจลงทุน ปริมาณการค้ายังเติบโตค่อเนื่อง และยังมีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคอีกมาก ขณะที่ผู้ประกอบการไทยก็ให้ความสนใจไปลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง แนะศึกษาข้อมูลรอบด้านก่อนตัดสินใจ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีลูกค้าของธนาคาร และนักลงทุนสนใจที่จะเข้าไปทำธุรกิจและลงทุนในประเทศพม่าเพิ่มขึ้นมาก ภายหลังจากที่พม่าเปิดประเทศ ทำให้มีตลาดเปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการค้าชายแดน ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยกับพม่ามีปริมาณการค้ากันปีละประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่ง 4 ใน 5 หรือ 80% เป็นการค้าทางชายแดน ซึ่งตรงนี้ถือว่าประเทศไทยได้เปรียบ เนื่องจากมีพรมแดนติดต่อกันกว่า 2,400 กิโลเมตร ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับ 8% ต่อปี และน่าจะสูงกว่า 10% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า

ประกอบกับนโยบายที่จะมีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยจะนำร่องใน 5 พื้นที่ชายแดนได้แก่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีปริมาณธุรกรรม 5 หมื่นล้านบาท อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว มีปริมาณธุกรรม 6 หมื่นล้านบาท อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด มีปริมาณธุรกรรม 2 หมื่นล้านบาท จังหวัดมุกดาหาร มีปริมาณธุรกรรม 3 หมื่นล้านบาท และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มีปริมาณธุรกรรม 3 แสนล้านบาท ดังนั้น จึงมีโอกาสที่ธุรกิจไทยตามแนวชายแดนจะขยายไปได้อีกมาก

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีมูลค่าการค้าขายระหว่างประเทศปีละกว่า 9 แสนล้านบาท ในพรมแดนติดต่อกับประเทศเเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า สปป.ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย และมีด่านการค้าชายแดนจำนวน 91 จุด โดยตลาดชายแดนของสหภาพพม่าก็เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการค้าที่สำคัญของประเทศ และได้รับความสนใจจากนักธุรกิจ และนักลงทุนของไทยเป็นจำนวนมาก ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเข้าไปลงทุนในเมืองใหญ่ๆ ของพม่า อย่าง ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และพุกาม

สำหรับสินค้าบริการที่พม่ายังมีความต้องการนั้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ทางด่านแม่สาย ก็จะเน้นในด้านค้าปลีก ท่องเที่ยว ทางด่านแม่สอด ก็จะเป็นการค้าส่งเพื่อกระจายต่อไปเมืองอื่น หรือสังขละบุรี ก็จะกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการด้านแรงงานมาก เป็นต้น

นายกอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทยกับพม่านั้น ไทยจะเป็นฝ่ายขาดดุลประมาณ 40,000 ล้านบาท เนื่องจากไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่า แต่การขาดดุลนั้นค่อยๆลดลง จนล่าสุดปีนี้ขาดดุลประมาณ 20,000 ล้านบาท และเชื่อว่าใน 1-2 ปีนี้ก็จะเข้าสู่สมดุล หรือเกินดุลต่อไป สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อของพม่าที่จะสูงขึ้นอีกมากตามอัตราการเติบโตของจีดีพี ขณะที่อัตราการเติบโตของการส่งออกไทยไปพม่าครึ่งแรกของปีเติบโตได้ 18.2%

ส่วนลูกค้าของธนาคารนั้น ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีความตื่นตัวในการเข้าไปลงทุนค้าขายในพม่าค่อนข้างมาก โดยขนาดของธุรกิจที่เข้าไปก็จะค่อยๆ เล็กลง จากเดิมที่ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ซึ่งในส่วนของธนาคารก็จะพยายามให้ข้อมูลทั้งเชิงลึก และพื้นฐานแก่ลูกค้า รวมถึงเป็นตัวกลางในเรื่องของพันธมิตร และด้านธุรกรรมการเงินด้วย เพื่อให้ลูกค้าประสบความสำเร็จในการลงทุน

“ลูกค้าที่ขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ ไม่ใช่ว่าทุกรายจะประสบความสำเร็จ สิ่งที่ธนาคารทำก็คือพยายามให้ข้อมูลที่รอบด้านที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ ธรรมเนียมประเพณี ไปจนถึงพันธมิตร เมื่อลูกค้าเห็นถึงโอกาส และความพร้อมแล้วลงทุนจึงจะใช้บริการของธนาคาร ก็จะมีทั้งสินเชื่อ ธุรกรรมการเงิน หรือการแลกเปลี่ยนเงินตรา เราไม่ได้มองถึงรายได้ หรือธุรกิจของเราก่อน แต่เราต้องการให้ลูกค้ามีโอกาส และสามารถอยู่รอดได้ก่อน”


กำลังโหลดความคิดเห็น