xs
xsm
sm
md
lg

สปท.แจงแนวทางปฏิรูปต่อคณะทูต เน้นป้องกันทุจริต สกัดคนโกงลงเลือกตั้ง ปรับโครงสร้าง ศก. สังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธาน สปท.นำคณะแจงการทำงาน คณะทูต องค์กรระหว่างประเทศ ยัน คสช.-ครม.-สนช.-กรธ.ทำงานสอดคล้องกันตามโรดแมป พร้อมจัดทำแนวทางปฏิรูปให้เป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องการป้องกันทุจริต ไม่ให้คนโกงเข้าสู่การเลือกตั้ง สกัดนักการเมืองแทรกแซงข้าราชการ เสริมคุณธรรมจริยธรรมผู้บริหาร ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ดูแลการจ่ายงบประมาณ

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.35 น. วันนี้ (11 พ.ย.) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวก่อนเข้าร่วมประชุมชี้แจงการทำงานของสปท.ต่อคณะทูตและองค์กรระหว่างประเทศว่า วันนี้เป็นการชี้แจงเรื่องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งที่ต้องสร้างความเข้าใจตามโรดแมปปฏิรูปประเทศ ในสูตร 1+1+18 เพื่อเป็นเป้าหมายกลับคืนสู่ระบบประชาธิปไตย ซึ่งการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งถือเป็นภารกิจเร่งด่วน รวมถึงการปฏิรูปหลังการเลือกตั้งที่จะต้องมีการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญตามกรอบใหญ่ที่อยู่ใน 11 ด้านการปฏิรูป ถือเป็นการชี้ให้เห็นถึงเป้าหมายใหม่ของประเทศที่นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติขึ้นมาเป็นครั้งแรกของประเทศไทยด้วย ดังนั้นจึงขอความร่วมมือคณะทูต เห็นใจและเข้าใจประเทศไทย เพราะเราเหมือนคนเดินทางไกล มีก้อนกรวดในรองเท้าทำให้เดินสะดุด มีปัญหา อุปสรรค เราจึงต้องพยายามนำก้อนกรวดเหล่านั้นออกไปจากรองเท้าเพื่อให้เดินสะดวกขึ้น

นายอลงกรณ์กล่าวว่า ในวันที่ 14 พ.ย. รัฐบาลได้เชิญให้ สปท.เข้าร่วมบรรยายสรุป และชี้แจงทำความเข้าใจถึงแนวทางการปฏิรูปให้กับเอกอัครราชทูตไทย กงสุลไทยที่อยู่ต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสื่อสารไปยังประชาคมโลกได้ถึงความตั้งใจของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วใน 20 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ความเห็นของ สปท.ต่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่สมาชิก สปท.ได้มีการอภิปรายกันเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมาจะนำส่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ภายในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการส่งความคิดเห็นของสมาชิกเพิ่มเติม แต่ถ้าสมาชิก สปท.คนใดมีความประสงค์ส่งความเห็นเพิ่มเติมสามารถส่งได้โดยตรงต่อ กรธ.

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการชี้แจงเปรียบเทียบประชาธิปไตยประเทศไทยกับประเทศพม่าต่อคณะทูตหรือไม่ นายอลงกรณ์กล่าวว่า คงเปรียบเทียบไม่ได้ เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ใช่วาระการชี้แจงในวันนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเส้นทางสู่ประชาธิปไตยของทั้งสองประเทศไม่ต่างกันในเรื่องบริบทของปัญหา เราจึงต้องเรียนรู้ผ่านอุปสรรคจุดอ่อนและจุดแข็งด้วย

ต่อมาเวลา 10.00 น. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้เชิญคณะทูตานุทูต 74 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 6 องค์กร เข้ารับฟังการชี้แจงการทำงานของ สปท. โดย ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท.ชี้แจงว่า การทำงานของ สปท.จะสอดคล้องกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยระยะแรกของโรดแม็ปตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. 2557 ถึง 30 ก.ย. 2557 คสช.ได้บริหารงานเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว และขณะนี้เข้าสู่ระยะที่ 2 จนถึงเดือน ก.ค. 2560 ซึ่งเป็นการเดินหน้าตามยุทธศาสตร์แบบบูรณาการ จากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ที่จะเริ่มตั้งแต่เดือน ส.ค. 2560 เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นช่วงส่งต่อการบริหารประเทศให้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งโดยรัฐบาลชุดใหม่ จะต้องรับช่วงภารกิจที่สำคัญให้ต่อเนื่อง

ร.อ.ทินพันธุ์กล่าวว่า สปท.จะจัดทำแนวทางการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้ทุกส่วนราชการได้นำไปใช้ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งเรื่องการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ การตรวจสอบไม่ให้ผู้ที่กระทำกรทุจริตได้เข้ามาสู่กระบวนการเลือกตั้ง การป้องกันการแทรกแซงการทำหน้าที่ของข้าราชการ การเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมของผู้บริหาร การปรับโครงสร้างด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อป้องกันการสร้างค่านิยมทางการเมืองที่ผิดๆ ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจระยะยาว และสุดท้ายคือการดูแลการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งก็ต้องดำเนินตามยุทธศาสตร์นี้อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ในวันที่ 14 พ.ย.นี้ สปท.จะบรรยายสรุปให้กับเอกอัครราชทูตไทยทั่วโลก ที่กระทรวงการต่างประเทศด้วย ซึ่งรัฐบาลได้ให้ สปท.ชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจถึงความตั้งใจในการขับเคลื่อนประเทศ และแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ การทุจริต คอร์รัปชัน เพื่อนำไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 20 ปี

ต่อมานายสุวัจน์ จิราพันธุ์ พร้อมด้วยนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล และนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก สปท. แถลงภายหลังการบรรยายสรุปการทำงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต่อคณะทูตและองค์กรระหว่างประเทศ ว่าเป็นครั้งแรกที่ สปท.ได้มีการพบปะกับทูตทั้ง 14 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 6 องค์กร เพื่อที่จะชี้แจงเป้าหมายของ สปท. และภารกิจต่างๆ เช่น การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ การป้องกันและตรวจสอบผู้ที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต การทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะนักการเมืองเป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำ ส่งเสริมความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดความเป็นธรรม

นอกจากนี้ นาย ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท.ยังได้แจงเรื่องมาตรา 44 พร้อมทั้งทำความเข้าใจกับโรดแมป 6+4 6+4 และ 1+1+18 ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี บรรยากาศภายในห้องบรรยายมีความเป็นกันเอง อีกทั้งผู้เข้าร่วมให้ความสนใจและมีการสอบถามถึง ความต่อเนื่องของการทำงาน สปท.ต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เช่นว่าจะทำอย่างไรให้การขับเคลื่อนออกมาเป็นรูปธรรม และได้สอบถามด้วยว่าทางแม่น้ำ 5 สายจะมีแนวทางการการปรองดองอย่างไร รวมถึงจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการปฏิรูปอย่างไร

นายคำนูณกล่าวว่า เราได้จัดตั้งศูนย์รับฟังความเห็นจากประชาชนถึง 11 ช่องทาง พร้อมทั้งมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นกว่า 700 เวที










กำลังโหลดความคิดเห็น