บอร์ดธนาคาร “ออมสิน” พร้อมพิจารณาปล่อยกู้ “การบินไทย” หากมีการเสนอแผนฟื้นฟูกิจการเบื้องต้น คาดไฟเขียวเงินกู้ได้สูงถึง 7,000 ล้านบาท
นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดล่าสุด ที่ประชุมยังไม่มีการพิจารณาการปล่อยกู้ระยะสั้นให้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากยังไม่ได้มีการเสนอแผนการฟื้นฟูกิจการเข้ามา รวมทั้งการปล่อยกู้ในโครงการต่างๆ ด้วย ส่วนการที่ธนาคารออมสิน จะขอแยกบัญชีโครงการที่ปล่อยกู้ตามนโยบายของ คสช.เป็นพีเอสเอนั้น ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง มีการระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงระดับไหน รวมถึงการคิดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน และแนวโน้มของความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งหากเสนอมาบอร์ดก็พร้อมจะพิจารณาให้ โดยคาดว่าจะรอให้มีผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนใหม่ก่อน ซึ่งขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการสรรหาแล้ว คาดว่าจะได้ตัวบุคคล และเริ่มทำงานได้วันที่ 1 ต.ค.นี้
ส่วนแนวคิดการจะให้ธนาคารอมออมสินรับลงทะเบียนผู้ค้าสลากรายย่อยทั่วประเทศเพื่อนำรายชื่อมาจัดสรรโควตาสลากใหม่ รวมถึงการปล่อยกู้เพื่อให้ผู้ค้าใช้เป็นเงินทุนมารับสลากนั้นก็ต้องล้มเลิกไป เพราะขณะนี้ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ยังไม่สามารถยึดโควตาจากผู้ค้ารายเดิมคืนมาได้
ด้าน นายธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการและรักษาการผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า การลงสมัครชิงตำแหน่ง ผอ.ออมสิน นั้นไม่จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งในปัจจุบัน และครั้งนี้ค่อนข้างมั่นใจว่าจะได้รับการคัดเลือก ส่วนการเดินหน้าโครงการต่างๆ ตามนโยบายของ คสช.นั้นยังไม่ได้เสนอเข้าบอร์ด เพราะจะรอหารือกับทางกระทรวงการคลังก่อนในการขอแยกบัญชีเป็นพีเอสเอ เนื่องจากหากนับรวม 5-6 โครงการแล้วเป็นเงินถึง 50,000-60,000 ล้านบาท ถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการขอแยกบัญชีโครงการพีเอสเอในอดีต
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการบินไทยที่ขอกู้เงินเข้ามา 7,000 ล้านบาทนั้น ระหว่างนี้รอให้จัดส่งแผนฟื้นฟูแบบคร่าวๆ มาให้ธนาคารพิจารณาด้วย แม้ว่าแผนจะยังไม่ผ่านการพิจาณาของซูเปอร์บอร์ด เนื่องจากหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของ คสช.ได้กำชับให้ดูแลเป็นพิเศษ ส่วนการปล่อยกู้ให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เบื้องต้น ออมสินจะปล่อยกู้ให้ 5,000 ล้านบาท ปีแรก และปีที่ 2 วงเงิน 2,000 ล้านบาท และปีที่ 3 อีก 1,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย MLR- ส่วนการปล่อยกู้ช่วยเหลือยางพารา และแก้ปัญหาเงินกู้นอกระบบนั้นยังไม่เดินหน้าเต็มที่ โดยต้องพิจารณารายละเอียดอีกครั้งหนึ่งก่อน
“การปล่อยกู้ในโครงการใหญ่ๆ ล้วนเกิดในช่วงนี้ จึงจ้างที่ปรึกษาให้ช่วยดูในเรื่องความเสี่ยง และเห็นว่าควรแยกเป็นบัญชีพีเอสเอเพื่อจะได้ดูแลหนี้เสียของธนาคารไม่ให้เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าสิ้นปีจะดูแลให้ลดลงจากร้อยละ 1.6 เหลือ 1.5 เพราะในภาวะแบบนี้จะให้ลดเหลือร้อยละ 1 คงลำบาก อย่างหนี้ครูก็เน้นดูแลหนี้ดีไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งง่ายกว่าการแก้หนี้ที่เสียแล้ว และคุมการปล่อยกู้ใหม่ ทำให้ยอดสินเชื่อรวมลดลงเล็กน้อย จาก 600,000 กว่าล้านบาท เหลือ 600,000 ล้านบาทถ้วนแล้ว” นายธัชพลกล่าว