“โจนส์ แลง ลาซาลล์” ระบุค่าเช่าออฟฟิศกรุงเทพฯ ทุบสถิติใหม่ในครึ่งแรกของปีนี้ ปรับตัวสูงขึ้นอีก 2.8% สูงกว่าสถิติสูงสุดครั้งที่แล้วในปี 2550 ถึง 17.3% แม้อุปสงค์ชะลอตัว เผยครึ่งปีหลังค่าเช่ามีแนวโน้มขยับขึ้นต่อ หลังผู้เช่ารายใหม่เริ่มเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเมือง
นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ ที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ บริษัทโจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “JLL” กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดให้เช่าอาคารสำนักงาน (ออฟฟิศ) ว่า จากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองที่เกิดขึ้นในไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ระหว่างปลายปี 2556 ถึงเดือนพฤษภาคม 2557 ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจโดยรวม และภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดี ภาคอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ ส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ ยังมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยอุปสงค์ และอุปทานค่อนข้างมีความสมดุล ช่วยให้ไม่เกิดสถานการณ์ตลาดล่มในช่วงที่ผ่านมา
“ตลาดอาคารสำนักงานให้เช่าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับแนวโน้มดังกล่าว โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา สถานการณ์ในตลาดอยู่ในเกณฑ์ดีกว่าที่คาดไว้ แม้ปริมาณการเช่าจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 56 นอกจากนี้ พื้นที่ว่างเหลือเช่าที่ลดต่ำลง ยังคงส่งผลให้ค่าเช่าขยับตัวสูงขึ้นต่อไปได้อีก” นางสุพินท์กล่าว
รายงานวิเคราะห์แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์กรุงเทพฯ ฉบับล่าสุด ซึ่งจัดทำโดยศูนย์บริการข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ไทย ของเจแอลแอล ระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ มีการเช่าพื้นที่เพิ่มคิดเป็นยอดรวมทั้งสิ้น 60,000 ตารางเมตร ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2556 ที่มียอดการเช่าพื้นที่เพิ่มรวม 87,600 ตารางเมตร แต่แม้ปริมาณการเช่าจะชะลอตัวลง ค่าเช่าพื้นที่สำนักงานในช่วงครึ่งแรกของปียังคงปรับตัวสูงขึ้นอีก 2.8% และสูงกว่าสถิติสูงสุดครั้งที่แล้วในปี 2550 ถึง 17.3% ส่วนอาคารสำนักงานเกรดเอในย่านศูนย์กลางธุรกิจ (ซีบีเอ - Central Business Areas) ปรับเพิ่มสูงขึ้น 1.2% และสูงกว่าสถิติสูงสุดครั้งที่แล้วในปี 2550 ราว 9%
น.ส.ยุพา เสถียรภาพอยุทธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการธุรกิจอาคารสำนักงาน เจแอลแอล กล่าวว่า สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีผลกระทบเชิงลบต่อบรรยากาศในภาคธุรกิจ ซึ่งส่งผลให้มีบริษัทส่วนหนึ่งที่ชะลอการเช่า-ขยายพื้นที่สำนักงาน ในขณะเดียวกัน ปี 2556 เป็นปีที่ตลาดอาคารสำนักงานของกรุงเทพฯ มีความคึกคักมากเป็นพิเศษ โดยมีการเช่าพื้นที่สำนักงานเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และยังได้รับอานิสงส์จากการที่มีบริษัทจำนวนมากที่มีแผนขยายสำนักงาน เร่งรัดดำเนินธุรกรรมการเช่าให้เสร็จภายในปีที่ผ่านมา ด้วยเกรงว่าค่าเช่าจะขยับตัวสูงขึ้นต่อไปอีก หรืออาคารที่ต้องการเช่าอาจไม่มีพื้นที่ว่างเหลือ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ปริมาณการเช่าพื้นที่สำนักงานเพิ่มในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ไม่สูงมากเท่ากับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ในส่วนภาพรวมของตลาดออฟฟิศในครึ่งแรกปี 57 ศูนย์บริการข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ไทยของเจแอลแอล ระบุ ขณะนี้ กรุงเทพฯ มีอาคารสำนักงานคิดเป็นพื้นที่รวมทั้งสิ้น 8.18 ล้านตารางเมตร โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน มีพื้นที่ว่างเหลือเช่า 9.7% ซึ่งนับเป็นอัตราการว่างที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เจแอลแอลเริ่มจัดเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2538 ทั้งนี้ อาคารสำนักงานเกรดเอในย่านศูนย์กลางธุรกิจ มีพื้นที่ว่างเหลือเช่าเพียง 8.2%
ทางด้านค่าเช่า อาคารสำนักงานโดยรวมทั่วกรุงเทพฯ มีอัตราค่าเช่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายนขยับขึ้นไปเฉลี่ยที่ 475 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ส่วนอาคารสำนักงานเกรดเอในย่านศูนย์กลางธุรกิจ ค่าเช่าเฉลี่ยขยับขึ้นไปอยู่ที่ 739 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ในขณะที่มีอาคารเกรดเอส่วนหนึ่งที่เรียกค่าเช่าสูงกว่าค่าเช่าเฉลี่ยในตลาดมาก อยู่ระหว่าง 900 ถึง 1,300 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน
เชื่อการเมืองมีเสถียรภาพหนุนตลาดคึกคัก
สำหรับสถานการณ์ตลาดออฟฟิศในครึ่งปีหลังของปี 57 นั้น มีโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงาน 3 โครงการที่มีกำหนดจะสร้างเสร็จ ประกอบด้วย เอสเจ อินฟินิต 1 (เดิมชื่ออาคารอีควิน๊อกซ์ พหล-วิภา) บริเวณแยกพหลโยธิน-วิภาวดีรังสิต อาคารเอไอเอ แคปปิตอล เซ็นเตอร์ ใกล้รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ และภิรัช ทาวเวอร์ ใกล้บีทีเอส สถานีพร้อมพงษ์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่อาคารสำนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 8.31 ล้านตารางเมตรภายในสิ้นปีนี้ โครงการที่จะสร้างเสร็จเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีผู้เช่าจองพื้นที่ล่วงหน้าแล้ว อย่างไรก็ดี จะมีผลทำให้อัตราการว่างของพื้นที่เช่าในตลาดอาคารสำนักงานกรุงเทพฯ ปรับสูงขึ้นได้ในช่วงแรก ก่อนที่จะเริ่มมีผู้เช่าทยอยเข้าเช่าพื้นที่เต็ม
“ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มมีเสถียรภาพ และความแน่นอนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้บรรยากาศในภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นความต้องการในตลาดอาคารสำนักงานให้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะจากบริษัทต่างๆ ที่ชะลอการเช่าไว้ในช่วงครึ่งแรกของปี ประกอบกับปริมาณอุปทานในตลาดมีค่อนข้างจำกัด จึงมีแนวโน้มว่าค่าเช่าจะยังคงขยับตัวสูงขึ้นต่อไปอีกในช่วงที่เหลือของปี” น.ส.ยุพา กล่าว