xs
xsm
sm
md
lg

เท 1,500 ล้านบาท ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ กนอ.เตรียมนิคมอุตฯ รับมือภัยพิบัติอนาคต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม
การนิคมฯ เตรียมเปิดเพิ่ม 8-10 นิคมใหม่ เผยความพร้อมนิคมในรับผิดชอบรับมือพิบัติภัยธรรมชาติน้ำท่วม แจงระบบป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตฯโซน กทม.-ปริมณฑล ก่อสร้างเสร็จกว่า 90% ด้านนิคมฯ ภาคตะวันออก อยู่ระหว่างการก่อสร้าง-ปรับปรุง หลังประสบภัยน้ำท่วมในปีก่อน “จีเอ็มแอล” เผยกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยอันดับ 3 ของโลก ขณะที่ไทยความเสี่ยงภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศระยะปานกลางเป็นอันดับ 37 ของโลก

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรม 11 แห่ง ที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของ กนอ.จากนิคมอุตฯ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ 56 แห่ง โดยมีอยู่ 45 แห่ง ที่เป็นของเอกชน มีจำนวนโรงงานที่ใช้บริการรวมกว่า 4,200 โรงงาน ซึ่งในจำนวนนี้เปิดให้บริการแล้ว 38 แห่ง และที่เหลืออยู่ระหว่างรอดำเนินงาน โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 2.8 ล้านล้านบาทนั้น โดยมากที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ทั้งนี้ จากข้อมูลจากกรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัยระบุถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น พบว่า เศรษฐกิจไทยเสียหายมากถึง 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.44 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 13% ของมูลค่าทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้การนิคมฯ ตระหนักถึงความเสี่ยงของภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นภัยจากธรรมชาติ และภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ล่าสุด การนิคมฯ ได้จัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการ กนอ. ศูนย์รวมข้อมูลการกำกับดูแลนิคมฯ โดยมีศูนย์ใหญ่ที่มักกะสัน และศูนย์ย่อยอีก 7 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งใช้งบลงทุน 1,500 ล้านบาท เพื่อเก็บข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ผลกระทบจากภัยพิบัติที่จะเกิดในอนาคต

นอกจากนี้ การนิคมฯ ได้เตรียมแผนการพัฒนานิคมฯ ในด้านต่างๆ รวมถึงการขยายพื้นที่นิคมรองรับการขยายตัวในการลงทุนภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ซึ่งคาดว่าถึงสิ้นปีนี้จะสามารถขายพื้นที่ได้มากกว่า 4,000 ไร่ เนื่องจาก กนอ.มีแผนพัฒนาพื้นที่นิคมฯ ใหม่อีก 8-10 แห่ง รองรับการลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า

สำหรับความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมนั้นในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ในขณะนี้ก้าวหน้าไปกว่า 90% แล้ว โดยการนิคมฯ ได้ให้ความสำคัญต่อการวางแนวป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงที่เคยได้ประสบเหตุแล้ว คือ นิคมอุตฯ ในพื้นที่เลียบแม่น้ำปะกง เช่น นิคมอมตะนคร พื้นที่ในแนวเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น นิคมในจังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้มีการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคใหม่ รวมถึงการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำ ขณะนี้งานก่อสร้างแล้วเสร็จหมดแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงเขื่อน และระบบสาธารณูปโภคในนิคมอุตฯ ในพื้นที่บางพลี ลาดกระบัง สมุทรสาคร สมุทรปราการ โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนนิคมอุตฯ ในโซนตะวันออก นั้นได้มีการว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาในการวางระบบป้องกัน โดยเบื้องต้นนั้น ทุกนิคมฯ มีเขื่อนอยู่แล้วแต่จะมีการปรับระบบการถ่ายเทน้ำในช่วงต้นและปลายทาง เพื่อให้รองรับน้ำ และระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“สำหรับงบก่อสร้างเขื่อนต่างๆ นั้น กนอ.ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลที่แล้ว 3,000 ล้านบาท ซึ่งได้มีการใช้ไปแล้วในบางส่วน ส่วนที่เหลือกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการในนิคมต่างๆ อยู่ในขณะนี้”

ด้านนายเอ็ม กานดิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มแอล เอ็กซ์ซิบิชั่น (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวว่า “จีเอ็มแอล” ตระหนักถึงความเสี่ยงของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นภัยจากธรรมชาติ หรือภัยที่เกิดจากมนุษย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล ดังนั้น เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติเหล่านี้ที่เกิดขึ้น จึงจัดงานสัมมนาวิชาการ และนิทรรศการด้านการลดความเสี่ยงทางภัยพิบัติแห่งเอเชีย ภายใต้ชื่อ Asian Disaster Risk Reduction Conference2014 : ADRE เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ควบคู่กับงานสัมมนาวิชาการ และนิทรรศการสำหรับอุตสาหกรรมรักษาความปลอดภัย ภายใต้ชื่อ International Security & Safety Expo & Forum 2014 : ISF เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ภาครัฐ-เอกชน ภาคประชาชน และสังคม ให้มีความเข้าใจถึงภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในอดีตและอาจเกิดขึ้นในอนาคต และภัยที่เกิดจากเงื้อมมือมนุษย์ ซึ่งเป็นภัยที่สามารถป้องกันและบรรเทาได้ โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 5 พ.ย.2557 ที่อิมแพค เมืองทองธานี 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญภัยธรรมชาติมากมาย โดยข้อมูลจากกรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย ระบุถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติในไทยที่สร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาล เช่น น้ำท่วมใหญ่ในปี 54 มีผู้เสียชีวิต 813 ราย เศรษฐกิจไทยเสียหายคิดเป็นมูลค่า1.44 ล้านล้านบาท โดยเหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้ไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติลำดับที่ 5 และมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจรุนแรงเป็นอันดับ 4 ของโลก

นอกจากนี้ ไทยยังเผชิญความเสี่ยงภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระยะปานกลางเป็นอันดับ 37 ของโลก โดย กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเป็นอันดับ 3 ของโลก และที่ผ่านมา ไทยยังมีวิกฤตการณ์น้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ด ปี 2555 โคลนถล่ม ภัยแล้ง ภัยหนาว และล่าสุดแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงราย 6.3 ริกเตอร์ มีความรุนแรงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนให้เห็นว่าภัยธรรมชาติเกิดขึ้นในประเทศไทยตลอดทั้งปี

ขณะที่ภัยธรรมชาติทั่วโลกในปี 2554 เกิดขึ้นทั้งสิ้น 820 ครั้ง โดยสัดส่วนมากกว่า 90% มีต้นเหตุมาจากสภาพภูมิอากาศ และมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นมากเป็นสัดส่วน 50% ของภัยธรรมชาติทั้งหมด โดยภัยดังกล่าวเกิดขึ้น และสร้างความเสียหายอยู่ในภูมิภาคเอเชียสูงถึง 70% ซึ่งภายในระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา (2523-2554 ) มีประชาชนเสียชีวิตจากภัยพิบัติ 2.3 ล้านคน 

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสนใจ คือ ประเทศที่มีความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูง ส่วนใหญ่ล้วนเป็นประเทศที่พัฒนา และมีรายได้สูง เปรียบเทียบได้จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเฮติ ปี 2553 มีผู้เสียชีวิต 2.3 แสนราย ความเสียหาย 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่ำกว่าการเกิดสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ปี 2554 มีผู้เสียชีวิต 2 หมื่นราย ความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ เหตุการณ์สาธารณภัยที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก และไม่สามารถหยุดยั้งได้ แต่หากมีการควบคุม และวางแผนการจัดการที่ดี มีความเข้าใจต้นเหตุแห่งปัญหาที่ล่อแหลม ก็จะช่วยบรรเทาความเสียหายทางด้านชีวิต ทรัพย์สิน และมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ บริษัทจีเอ็มแอล จึงเห็นความสำคัญ และได้จัดงาน ADRE ขึ้น เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงอันตรายของภัยธรรมชาติ ขณะเดียวกัน ก็ต้องการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ทุกภาคส่วน


กำลังโหลดความคิดเห็น