ชาวนครปฐมเศร้า ศาลปกครองกลางยกฟ้องคดีเรียกค่าเสียหาย รบ.ปูจัดการน้ำ ให้เหตุผลทำตามระบบสากลแล้ว แจงมวลน้ำมากและหลายปัจจัยทำน้ำท่วม ชี้ทำเต็มที่แล้ว ช่วยเหลือตาม กม. ยกป้องกันไม่ให้ท่วมกรุงไปท่วมที่จว.ผู้ฟ้องแทนเพื่อผลประโยชน์ส่วนร่วม เหตุเป็นศูนย์ ศก. ไม่เลือกปฏิบัติไม่ต้องใช้ค่าเสียหาย ผู้ร้องน้อมรับคำตัดสิน ฉะ รบ.ปูเยียวยาไม่เต็มที่ ย้ำจัดการน้ำพลาด ทนายถกอุทธรณ์สู้หรือไม่
วันนี้ (16 ก.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่นางสุทธิรักษ์ ทองวานิช พร้อมพวกชาวบ้านในจังหวัดนครปฐมรวม 10 ราย ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในขณะดำรงตำแหน่งดังกล่าว), ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, รมว.เกษตรฯ, กรมชลประทาน, กระทรวงหมาดไทย, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม, ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ และกระทรวงการคลัง เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-11 กรณีเหตุน้ำท่วมใหญ่ปี 54 รัฐบาลบริหารจัดการน้ำผิดพลาดทำให้มวลน้ำจำนวนมหาศาลได้ไหลสู่พื้นที่ต่ำออกสู่ทะเลผ่านแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง รวมทั้งปิดกันประตูระบายน้ำ วางสิ่งกีดขวางทางน้ำ เป็นเหตุให้น้ำไม่ไหลไปตามทิศทางตามธรรมชาติ ส่งผลน้ำท่วมขังบริเวณ จ.นครปฐม ทั้งยังส่งกลิ่นเน่าเหม็นและทรัพย์สินของชาวบ้านผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาลสั่งให้ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหาย จำนวนกว่า 3.7 ล้านบาท และจัดทำแผนป้องกันน้ำท่วม
โดยเหตุที่ศาลยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าช่วงระหว่างเดือน มิ.ย.-ต.ค. 54 ประเทศไทยเกิดพายุโซนร้อนและมรสุมจำนวนหลายลูก รวมทั้งเกิดน้ำทะเลหนุนสูงส่งผลให้เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรงสร้างความเสียหายให้แก่สถานที่ต่างๆ และบ้านเรือนประชาชนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งที่พักอาศัยของผู้ฟ้องคดี โดยปริมาณน้ำสะสมในเขื่อนต่างๆ อาทิ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนอื่นๆ สูงมากที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งผู้ถูกฟ้องมีความพยายามในการระบายน้ำในระดับสูงสุดตามระบบสากลแล้ว ซึ่งปริมาณน้ำที่ระบายออกจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ที่ไหลเข้ากรุงเทพมหานคร และจังหวัดในเขตพื้นที่ปริมณฑลรวมถึง จ.นครปฐม มีเพียงร้อยละ 20 ซึ่งเป็นสัดส่วนเพียง 1 ใน 5 ของปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่พื้นที่ดังกล่าว การระบายน้ำของเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ จึงไม่สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ จ.นครปฐม
โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุทกภัยใน จ.นครปฐม น่าเชื่อว่าเป็นไปตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 อ้างว่าเกิดจากปริมาณน้ำที่ไหลล้นจากแม่น้ำยม แม่น้ำวัง และน้ำที่ตกค้างอยู่ตามทุ่งในภาคกลางตอนบน ซึ่งมีปริมาณรวมกันถึงร้อยละ 80 หรือ 4 ใน 5 ของมวลน้ำทั้งหมดที่ไหลลงสู่กรุงเทพมหานครและจังหวัดในเขตพื้นที่ปริมณฑลรวมทั้ง จ.นครปฐม ประกอบกับยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ หนอง บึง และพื้นที่ลุ่มต่ำซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำตามธรรมชาติถูกเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่การเกษตร และที่อยู่อาศัยไม่สามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวรองรับน้ำได้ด้วยปริมาณน้ำจำนวนมากที่ไหลผ่าน ทำให้คันกั้นน้ำของประตูระบายน้ำหลายแห่งชารุดเสียหาย ทำให้ไม่สามารถบังคับน้ำให้อยู่ในลำน้ำหรือในพื้นที่ที่สามารถควบคุมการไหลของน้ำได้ มีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางน้ำโดยมีอาคาร โรงงานอุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น สร้างถนนหรือทางรถไฟขวางทางน้ำ ตลอดจนอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูงซึงเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ซึ่งระหว่างนั้นผู้ถูกฟ้องก็ได้ดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันน้ำท่วมอย่างเต็มความสามารถตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดแล้ว และได้มีการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตามกฎหมาย
ส่วนที่อ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้ร่วมกันป้องกันมิให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพชั้นในโดยทำแนวคันกั้นน้ำด้วยกระสอบทรายขนาดใหญ่กีดขวางทางน้ำ ทำให้ผู้ฟ้องคดีที่เป็นชาวบ้านต้องถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน และผู้ถูกฟ้องที่ 3 และ 6 ได้บริหารจัดการเพื่อป้องกันน้ำเข้าท่วม จ.สุพรรณบุรี อันมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัตินั้น เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องต้องป้องกันมิให้น้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหาตรเนื่องจากเป็นศูนย์กลางการบริหารประเทศ เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ประชาชนอยู่อย่างหนาแน่น หากปล่อยให้เกิดน้ำท่วมจะเกิดผลกระทบร้ายแรงต่อประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ การสื่อสาร การคมนาคม การท่องเที่ยว การสั่งการในการป้องกันอุทุกภัยและความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ จึงเป็นการดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ขณะที่การวางแนวกระสอบทรายขนาดใหญ่หรือบิ๊กแบ็คเป็นระยะทางยาวตั้งแต่สถานีตำรวจดอนเมืองไปจนถึงประตูระบายน้ำคลอง 2 รวมทั้งการยกระดับถนนสูง 6 เมตร ก็เป็นการชะลอดน้ำที่จะเข้าท่วมกรุงเทพมหานคร จากฝั่งตะวันออก ไม่ใช่ฝั่งตะวันตกที่ผู้ฟ้องคดีอยู่ เพราะน้ำบริเวณดังกล่าวสามารถไหลลงสู่คลองทวีวัฒนาก่อนที่จะเข้า จ.นครปฐม และไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนได้ ขณะเดียวกันผู้ถูกฟ้องก็ได้ดำเนินการมาตรการเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 5,000 บาทต่อหลังคาเรือนแล้ว รวมทั้งมาตรการเยียวยาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีและคำสั่งอื่นๆ การกระทำของผู้ถูกฟ้องจึงยังไม่เป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.420 และไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายที่กระทำล่าช้าเกินสมควร และไม่มีเหตุต้องชดใช้ค่าเสียหาย จึงพิพากษายกฟ้อง
โดยนางอภิญญา ชูสว่าง ผู้ฟ้องคดีที่ 3 กล่าวว่า ตนเคารพในคำพิพากษาของศาล แต่ในฐานะประชาชนผู้เสียหายเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ ซึ่งเงินช่วยเหลือที่บ้านเรือนถูกน้ำท่วมเสียหายตนก็ไม่ได้รับแต่อย่างใด รวมทั้งเห็นว่ารัฐบาลบริหารจัดการน้ำไม่ถูกต้อง ซึ่งบ้านตนถูกน้ำท่วมสูงถึง 1.50 เมตร ภายในระยะเวลาแค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ทำให้เก็บข้าวขาวอพยพหนีออกมาไม่ทัน ซึ่งหากเกิดจากน้ำท่วมโดยธรรมชาติไม่น่าจะรวดเร็วขนาดนี้ อีกทั้งบ้านตนถูกน้ำท่วมก่อนที่จะสร้างแนวเสริมคันกั้นน้ำด้วย โดยสาเหตุทั้งหมดเป็นเพราะการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐบาล
ขณะที่นายไอศูรย์ วิภูอัศธาดา ผู้รับมอบอำนาจจากทนายความผู้ฟ้องคดี เปิดเผยว่า หลังจากนี้คงจะต้องปรึกษากับทนายความและผู้ฟ้องคดีอีกครั้งว่าจะอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ต่อไป