ศาลปกครองกลาง พิพากษาให้กรมชลประทานจ่าย 8 ล้านบาท ชดใช้ค่าเสียหายเกษตรกร ต.บางระกำ อ.บางเลน นครปฐม เหตุประมาทเลินเล่อเปิดประตูระบายน้ำ ตามแรงกดดันชาวบ้านนนทบุรี-ปทุมธานี โดยไม่แจ้งเตือนคนในพื้นที่ รวมทั้งไม่เคยแจ้งเตือนภัยผู้ว่าฯ นครปฐม จนส่งผลให้น้ำทะลักท่วมพื้นที่ทำกินนาน 2 เดือน ทั้งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
วันนี้ (25 ก.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาสั่งให้กรมชลประทาน ชดใช้ค่าเสียหายให้กับเกษตรกร รวม 24 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 8,261,211 บาท เนื่องจากจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการบริหารจัดการน้ำ กรณีเปิดประตูระบายน้ำคลองพระยาบรรลือ คลองพระพิมล คลองมหาสวัสดิ์ และคลองอื่นๆ ที่อยู่ทางทิศเหนือของ ต.บางระกำ อ.บางเลน จ.นครปฐม พร้อมๆ กัน เมื่อคราวน้ำท่วมปลายปี 2549 จนทำให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านเสียหาย
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก นายชนะพล การดำริห์ และพวกรวม 24 คน ซึ่งเป็นเกษตรกรปลูกพืชสวน และเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ ต.บางระกำ ยื่นฟ้องกรมชลประทานต่อศาลปกครองกลาง กรณีที่กรมชลประทานยอมเปิดประตูระบายน้ำคลองพระยาบรรลือ คลองพระพิมล คลองมหาสวัสดิ์ ตามที่ถูกชาวบ้านที่อยู่ด้านเหนือ อ.บางเลน ประกอบด้วยพื้นที่ จ.นนทบุรี ปทุมธานี กดดันเพื่อระบายน้ำที่ท่วมขัง
โดยศาลปกครองเห็นว่า กรมชลประทานมีหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2549 เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ กรมชลประทานอ้างว่ามีแนวทางการปฏิบัติในการระบายน้ำรวมทั้งหมด 8 ขั้นตอน แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากรมชลประทานกลับไม่ได้ใช้แนวทางการปฏิบัติดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเมื่อมีน้ำปริมาณมหาศาลค้างอยู่ด้านเหนือ ต.บางระกำ นานถึง 2-3 เดือน กรมชลประทานควรเร่งระบายน้ำ ด้วยการเปิดประตูระบายน้ำตามแผนการระบายน้ำอย่างเหมาะสม พร้อมใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ขุดลอกคูคลองในเขตรับผิดชอบ บริหารจัดการน้ำไปยังด้านที่มีอุปกรณ์ที่มีเครื่องมือทันสมัยในการระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ด้านตะวันออก คือแม่น้ำบางปะกง
แต่กรมชลประทานกลับระบายน้ำลงมาด้านตะวันออก ซึ่งไม่มีอุปกรณ์ทันสมัยด้วยปริมาณน้ำที่ใกล้เคียงกันหรือมากกว่าในทิศตะวันตก อีกทั้งยังพบว่าไม่มีการแจ้งเตือนประชาชนผู้อยู่อาศัยในเส้นทางน้ำไหลผ่าน เช่น ประชาชนใน ต.บางเลน ให้เฝ้าระวังและเตรียมแผนรองรับน้ำไหลบ่าอย่างเหมาะสม และเมื่อไม่สามารถบริหารจัดการน้ำค้างทุ่งได้ เพราะถูกกดดันจากผู้ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะน้ำท่วม จึงเปิดประตูระบายน้ำทั้งหมดในคราวเดียวกัน เป็นเหตุให้น้ำไหลบ่าเข้าที่ดินทำกินของผู้ถูกฟ้องทั้ง 24 คน ภายใน 2 วัน และท่วมขังอยู่นาน 60 วัน ซึ่งพื้นที่สวนที่อาศัยของผู้ฟ้องคดีทั้งหมดไม่เคยประสบภาวะน้ำท่วม แม้แต่ปี 2538 ที่มีเหตุน้ำท่วมใหญ่
ประกอบกับพบว่า กรมชลประทานไม่เคยมีหนังสือแจ้งเตือนภัยไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ให้ระวังภัยน้ำท่วมอันเนื่องมาจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนต่างๆ จึงฟังได้ว่ากรมชลประทานกระทำการโดยประมาท ปราศจากความระมัดระวัง ทั้งที่เป็นหน่วยงานทางปกครองที่มีความรู้ในการบริหารจัดการน้ำโดยตรงของประเทศ กลับไม่ใช้ความเป็นมืออาชีพบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้แรงน้ำจำนวนมหาศาล พังทลายคันดินของผู้ถูกฟ้องทั้งหมด แล้วเข้าท่วมพื้นที่ทำกินได้รับความเสียหายจริง ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ถูกฟ้องทั้งหมดตามนัยมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นเหตุให้ต้องรับผิดชอบในผลแห่งการกระทำละเมิด โดยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีตามความเสียหายจริง พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ของเงินต้นของแต่ละคนนับแต่วันที่ 10 พ.ย. 2549 อันเป็นวันทำละเมิดเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้กรมชลประทานชำระให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้นอกจากศาลจะให้คู่กรณียื่นคำชี้แจงและรายละเอียดความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ศาลก็ยังได้แสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคาสินค้าและผลผลิตของพืช และสัตว์ในแต่ละชนิด จากแหล่งต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะนำมาคิดคำนวณความเสียหายที่ผู้ถูกฟ้องคดีควรได้รับการชดใช้ อีกทั้งคำสั่งในการให้กรมชลประทานชดใช้ค่าเสียหายก็มีการระบุรายละเอียดความเสียหายในแต่ละรายการอย่างชัดเจน เช่น ผู้ถูกฟ้องที่ 13 น.ส.พรวิสา เปาวะสันต์ ปลูกตะไคร้บนเนื้อที่ 1 ไร่ ค่าเสียหาย 1 หมื่นบาท พิเคราะห์ถ้อยคำของ น.ส.พรวิสา ในชั้นไต่สวนเปรียบเทียบกับเอกสารท้ายฟ้องและข้อมูลจากเว็บไซต์พบว่าตะไคร้ให้ผลผลิต 2 ตันต่อไร่ มีรายได้ทั้งหมด 15,000-20,000 บาทต่อไร่ จึงกำหนดให้ตามคำขอ เป็นเงิน 10,000 บาท แต่เนื่องจากได้รับเงินช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีไปแล้วบางส่วน จึงให้หักเงินช่วยเหลือออกจากค่าเสียหาย คงเหลือ 7,521 บาท ส่วนคำขอค่าป้องกันน้ำท่วมจำนวน 4,500 บาท ศาลไม่รับเนื่องจากยื่นขอเมื่อพ้นระยะเวลาฟ้อง อย่างไรก็ตาม วงเงินความเสียหายที่ศาลมีคำสั่งให้กรมชลประทานชดใช้ให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 24 คนนั้น ยอดต่ำสุดอยู่ที่ 7,521 บาท สูงสุดอยู่ที่ 1,949,580 บาท รวมเป็นเงินที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 24 คนจะได้รับ 8,261,211 บาท