ตลอด 8 ปีที่ “เทมาเส็ก” ถือหุ้นกลุ่มชินฯ ขนเงินปันผลกลับสิงคโปร์เฉียด 1 แสนล้านบาท แถมได้กำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่า แม้เทมาเส็กจะมีนโยบายลดสัดส่วนการถือหุ้นกลุ่มชินลง แต่คาดว่าไม่มีทางขายทั้งหมด เพราะยังมี “ปันผลก้อนโต” รออยู่ เพราะประมูล 4G โดนเลื่อน
แม้ “เทมาเส็ก” จะใช้เงินเข้าซื้อกิจการทั้งหมดของกลุ่ม ชิน คอร์ปอเรชั่น หรือ “ชินคอร์ป” จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้หลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศเมื่อช่วงปลายปี 2548-2549 ประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถือครองหุ้นทั้งสิ้น 49.62% แต่หากคิดเฉพาะเม็ดเงินปันผลก้อนงามที่สามารถเรียกคืนกลับไปได้จาก “ชินคอร์ป” ถือว่า“เทมาเส็ก โฮลดิ้ง” ได้ผลตอบแทนเกินคุ้มไปแล้ว สำหรับการลงทุนในหุ้นกลุ่มชินคอร์ป (บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง หรือ INTUCH) ด้วยเม็ดเงินปันผลที่ใกล้เข้าระดับ 1 แสนล้านบาท แค่ช่วง 7 ปีแรกก็เรียกรับไปแล้วกว่า 8.5 หมื่นล้านบาท และในปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่ 8 ในการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หลายฝ่ายคาดว่าน่าจะแตะระดับ 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่นับรวมผลกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นมามาก แม้จะตัดขายหุ้นออกไปแล้วบางส่วนก็ตาม
การลงทุนในดีลดังกล่าว ถือเป็นดีลที่ประสบความสำเร็จอย่าง “งดงาม” ของเทมาเส็ก แม้จะมีข่าวออกมาว่า เทมาเส็ก ไม่ต้องการถือหุ้นในจำนวนมากในธุรกิจที่ข้องเกี่ยวทางการเมือง เพราะอาจได้รับผลกระทบต่างๆ ต่อการลงทุน แต่เชื่อกันว่า ด้วย “ชินคอร์ป” ซึ่งเป็นขุมทรัพย์ที่ให้ผลประโยชน์สูง จะอย่างไรเสีย “เทมาเส็ก” จะไม่มีการขายหุ้นออกไปจนหมด เพียงแต่ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงบ้างเพื่อลดความเสี่ยงเท่านั้น
ที่ผ่านมา ความพยายามของเทมาเส็ก ในการลดสัดส่วนในการถือหุ้นชินคอร์ป เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อออกจากความขัดแย้งจากข้อพิพาททางการเมืองที่ส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์และราคาหุ้นของกลุ่ม ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของนักลงทุน เพราะรับรู้มาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการแก้ไขเงื่อนไขของบริษัทให้จ่ายปันผลได้มากกว่า 40% หรือมากกว่ากำไรสุทธิต่อหุ้นที่บริษัทได้รับจนเป็นเรื่องปกติปัจจุบัน เทมาเส็ก ถือหุ้นใน INTUCH ผ่าน แอสเพนโฮลดิ้ง 41.62% สำหรับบริษัทลูกๆ ของ INTUCH “เทมาเส็ก” ส่ง SingTel เข้ามาถือหุ้นใน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส อีก 23.31% และอีก 40.45% ถือผ่าน INTUCH ส่วน บมจ.ไทยคม (THCOM) ใช้ INTUCH เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 41.14% มีเพียง บมจ.ซีเอส ล็อกซอินโฟ (CSL) ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัทในเครือชินคอร์ป ขณะที่รายอื่นๆ คือ บริษัท ดีทีวี จำกัด 42.07% และมี Singapore Telecommunication ถือหุ้น 14.14% ซึ่งสัดส่วนในปัจจุบันนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่เทมาเส็กจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงอีกในอนาคต
แต่การลดสัดส่วนการถือหุ้นของเทมาเส็กยังมีเงื่อนไขที่สำคัญ คือ การขายหุ้นที่ถือออกมาในราคาที่ไม่ต่ำกว่าต้นทุน เมื่อครั้งที่ซื้อมาในราคา 49.25 บาท/หุ้นเมื่อปี 2549 ซึ่งล่าสุด 25 ก.ค. 2557 หุ้น INTUCH มีราคาอยู่ที่ 69.00 บาท เพิ่มขึ้นจากราคาซื้อครั้งแรก 19.75 บาท หรือ 40.10% ทำให้การตัดขายหุ้นออกมาจำนวนมากๆ ยังมีข้อจำกัด เพราะแม้เทมาเส็กจะได้กำไรจำนวนมากจากการขายหุ้นที่มีส่วนต่างราคาที่สูงจากต้นทุนที่ซื้อไว้ แต่จำนวนหุ้นที่ลดลงไปก็จะมีผลต่อการรับผลตอบแทนในรูปแบบเงินปันผลที่บรรณาการกลับคืนมาสู่ฐานใหญ่ที่สิงคโปร์จำนวนมหาศาล อีกทั้งทิศทางธุรกิจสื่อสารในไทย โดยเฉพาะเทคโนโลยี 3G และ 4G รวมถึงโมบายคอนเทนต์ ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก แม้จะใช้เงินลงทุนที่สูง ดังนั้น หากเทมาเส็กตัดสินใจสละหุ้นที่ถือครองอยู่ก็เท่ากับพลาดโอกาสคว้ากำไรงามที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเช่นกัน
ล่าสุด การลงทุนด้านโทรคมนาคมประเทศ เกิดสะดุดอีกครั้งเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มีมติให้เลื่อนการประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz, 900MHz ออกไปเป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งเรื่องดังกล่าวกดดันให้ราคาหุ้นในกลุ่มผู้ประกอบการให้บริการเครือข่ายมือถือปรับตัวลดลง รวมถึง ADVANC ซึ่งถือเป็นผู้ครองมาร์เกตแชร์เบอร์ 1 ในประเทศได้รับผลกระทบ
แต่ในวิกฤตกับมีหลายคนคาดว่า เมื่อเม็ดเงินลงทุนที่เตรียมไว้ไม่ได้ถูกนำมาใช้ตามแผนงานปกติ ก็อาจมีความเป็นไปได้สูงที่ เทมาเส็ก จะเรียกเงินปันผลจากกลุ่มชินคอร์ปมากขึ้นด้วยเช่นกัน
นายอดิศักดิ์ ผู้พิพัฒน์หิรัญกุล นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ธนชาต กล่าวถึงกรณีที่ คสช.มีมติให้เลื่อนการประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz, 900MHz ออกไปเป็นระยะเวลา 1 ปี ว่า เป็นเรื่องที่ส่งผลระยะสั้นต่อหุ้นกลุ่ม ICT เพราะหากมองในความเป็นจริง การลงทุนก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป ส่วนกรณีการจ่ายเงินปันผลในระดับที่สูงของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ที่ประกาศเพิ่มสัดส่วนเงินปันผล ถือเป็นเรื่องที่ทำได้หากไม่กระทบต่ออัตราส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings Per Share, EPS) ขณะที่ ADVANC คาดว่าจะสามารถจ่ายปันผลทั้งปี 2557 ได้ 12.40 บาท
“การที่จ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นทุกปี ก็น่าจะเกิดจากผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นของบริษัท ส่วนจะสามารถประกาศจ่ายเงินปันผลเพิ่มจากอัตรากำไรปกติได้หรือไม่ ต้องขึ้นกับกฎหลายอย่างที่ทาง ตลท. กำหนดไว้ด้วย โดยเฉพาะ EPS” นายอดิศักดิ์ กล่าว
นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ธนชาต ระบุว่า หากมองตามความเป็นจริง ผู้ประกอบการทุกค่ายยังต้องลงทุนในโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการปรับปรุง ซ่อมบำรุงโครงข่ายทุกปี ดังนั้น มองว่าผู้ประกอบการจะไม่นำเงินดังกล่าวไปใช้ในกิจการอื่น
อย่างไรก็ตาม การเลื่อนประมูล 4G ครั้งนี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่า ADVANC มีโอกาสได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุดเนื่องจาก ปี 2558 จะถือครองคลื่นน้อยสุดเมื่อเทียบผู้ประกอบการรายอื่น แต่มองว่า หากการประมูลยังเกิดทันในปีหน้าจะไม่กระทบต่อปัจจัยพื้นฐานในระยะยาวอย่างมีนัย ในขณะที่แนวโน้มผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่กลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเริ่มเห็นผลบวกจากต้นทุนสัมปทานที่ลดลง
“ADVANC จะมีผลเชิงลบมากกว่ารายอื่น เนื่องจากคลื่น 900 จะหมดอายุในปีหน้าหลังจากโอนย้ายลูกค้าไปยังคลื่น 2.1GHz หมดในปีหน้า อาจทำให้ปริมาณการใช้งานเริ่มที่จะแออัด โดยปัจจุบัน AIS ถือครองคลื่นทั้งหมด 32.5MHz แต่หากไม่รวมคลื่น 900 MHz ที่จะหมดอายุในปีหน้า จะทำให้บริษัทถือครองคลื่นเพียง 15MHz สำหรับ DTAC มองว่ากระทบน้อยที่สุด เนื่องจากถือครองคลื่นมากสุดราว 75MHz ส่วน TRUE ถือครองคลื่นราว 30MHz อย่างไรก็ตามหากการประมูลคลื่นเกิดขึ้นทันภายในสิ้นปี 58 คาดว่าจะไม่กระทบต่อผลประกอบการของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ” นายอดิศักดิ์ กล่าว
น.ส.ธริศา ชัยสุนทรโยธิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.เคเคเทรด เปิดเผยว่า จากการประกาศระงับประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคมในระยะเวลา 1 ปีนั้น พบว่า ราคาหุ้นของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (ADVANCE) ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากบริษัทเหลือช่องสัญญาณโครงข่าย (Bandwidth) น้อยที่สุด เมื่อไม่สามารถประมูลคลื่นได้ในเร็วๆ นี้ จะทำให้ลูกเล่นทางผลิตภัณฑ์ออกมาได้น้อยกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน อีกทั้งราคาหุ้นก่อนหน้านี้ ได้ขึ้นมารอรับข่าวการประมูลคลื่นความถี่ 1,800 เมกะเฮิรตซ์มานานแล้ว
ส่วนหุ้นสื่อสารอื่นที่คาดว่าบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะยังมีห้องสัญญาณโครงข่ายเหลืออยู่มาก อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของบริษัท ที่ไม่ครอบคลุมถึงการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ยังแนะนำให้นักลงทุนขายหุ้นกลุ่มสื่อสาร โดยมองราคาเหมาะสมของ แอดวานซ์ที่ 210 บาท ดีแทคที่ 110 บาท และทรูที่ 7.20 บาท
“การที่ คสช.ประกาศงดการประมูลคลื่นความถี่แม้ว่าจะไม่กระทบต่อพื้นฐานของหุ้นกลุ่มสื่อสาร แต่จะกระทบจิตวิทยาการลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศที่ถือหุ้นของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และดีเทค ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ที่เล่นหุ้นกลุ่มสื่อสารจะให้ความสำคัญต่อการประมูลคลื่น 1,800 เมกะเฮิรตซ์มากที่สุด” น.ส.ธริศา กล่าว
สำหรับราคาหุ้นบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ADVANC ปิดตลาดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ที่ 205.00 บาท ลดลง 2.00 บาท เปลี่ยนแปลง -0997% ระหว่างเทรดราคาสูงสุดที่ 207.00 บาท ต่ำสุดที่ 202.00 บาท มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 2,032,763 ล้านบาท
ทั้งนี้ ADVANC มีแผนรองรับในการใช้ระบบเทคโนโลยีในการลดความแออัดของการใช้ข้อมูล แต่กรณีเลวร้ายหากการประมูลมีการล่าช้าออกไปมากกว่า 1 ปี ถือเป็นความเสี่ยงต่อ ADVANC ในการเสียส่วนแบ่งตลาดให้แก่คู่แข่ง
ท้ายสุดนี้ ไม่ว่า ADVANC จะได้รับผลกระทบจากการเลื่อนประมูล 4G มากน้อยเพียงใด แต่ด้วยฐานลูกค้าที่มีอยู่จำนวนมากในฐานะผู้ครองเจ้าตลาด คงไม่ทำให้ผลดำเนินงานของบริษัทปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนปรับตัวต่ำลงจากปีที่ผ่านมา ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจหากจะเห็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้บริหารเห็นพ้องอนุมัติจ่ายปันผลในระดับใกล้เคียงปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น เพื่อส่งผลตอบแทนกลับคืนสิงคโปร์ เฉกเช่นเดียวกับ INTUCH ซึ่งต้องยอมรับว่า การเข้าลงทุนในกลุ่มชินคอร์ป ของเทมาเส็ก คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์