xs
xsm
sm
md
lg

คสช.ฟื้นเชื่อมั่นหุ้น IPO TAE สวยสุด 20 บจ.จ่อคิวเข้าเทรด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาพรวมครึ่งปีแรก 2557 ดัชนีหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 14% พบมิถุนายน ช่วงพีกสุดของหุ้น IPO ในการเข้าเทรด TAE นำโด่งกลุ่มหุ้นน้องใหม่ ประเดิมเทรดเหนือจอง 180% ขณะที่ SAWAD ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดจากทั้งหมด 13 บริษัท ด้านกูรูชี้ คสช.ช่วยฟื้นความมั่นนักลงทุน แม้สหรัฐฯ-สหภาพยุโรปหมางเมิน ย้ำตลาดหุ้นไทยยังโดดเด่นสุดในภูมิภาค  เชื่อเข้าเทรดอีกกว่า 30 ราย เพราะเป็นจังหวะที่ดีสุด ขณะที่รายชื่อจากตลาดหลักทรัพย์พบ 20 บริษัทเตรียมเข้าระดมทุนทั้ง SET และเอ็ม เอ ไอ
 
ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีแรก 2557  ดัชนีหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 14.21% จากช่วงต้นปีที่ผันผวนตามปัจจัยลบความขัดแย้งทางการเมืองที่เข้ามากดดัน แต่เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาควบคุม และบริหารประเทศแทนรัฐบาลชุดรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 22 พ.ค.2557 พบว่า ตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าวดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแม้จะมีการปรับตัวลงเพื่อพักฐานไปบ้าง

ขณะเดียวกัน นอกจากดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว พบว่าการเข้าซื้อขายหลักทรัพย์บนกระดานครั้งแรกของหุ้นที่ถูกเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป (IPO) ได้ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเช่นเดียวกับดัชนีหลักทรัพย์ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ตั้งแต่ต้นปีมีบริษัทจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์ และตลาด เอ็ม เอ ไอ เข้าซื้อขายรวมทั้งสิ้น 13 บริษัท ขณะที่ภายในเดือนมิถุนายนหลังจากมีการรัฐประหารจนถึงปัจจุบัน มีบริษัทจดทะเบียนที่เข้าซื้อขาย จำนวน 4 บริษัท ซึ่งราคาหุ้นเมื่อปิดตลาดในการซื้อขายวันแรกปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 52.86%-180%
 
บมจ.ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ (TAE) ซึ่งซื้อขายในวันวันที่ 5 มิถุนายน มีราคาปิดตลาดในการซื้อขายวันแรกสูงสุดในเดือนมิถุนายน และสูงสุดตั้งแต่ต้นปี 2557 ซึ่งปิดที่ 5.60 บาท เพิ่มขึ้น 3.60 บาท หรือ 180% จากราคา IPO ที่ 2.00 บาท ถัดมาคือ บมจ.เซ็ปเป้ (SAPPE) เข้าซื้อขาย 25 มิ.ย. ปิดที่ 27.75 บาท เพิ่มขึ้น 14.25 บาท หรือ 105.56% จากราคา IPO 13.50 บาท ถัดมาคือ บมจ.แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย (PCA) เข้าซื้อขาย 23 มิ.ย. ปิดที่ 5.00 บาท เพิ่มขึ้น 2.20 บาท หรือ 78.57% จากราคา IPO 2.80 บาท และ บมจ.เธียรสุรัตน์ (TSR) เข้าซื้อขาย 19 มิ.ย. ปิดที่ 5.35 บาท เพิ่มขึ้น 1.85 บาท หรือ 52.86%  จากราคา IPO 3.50 บาท

บริษัทจดทะเบียนที่เข้าซื้อขายครั้งแรกในช่วงก่อนหน้าเดือนมิถุนายน พบว่า บมจ.สุธากัญจน์ (SUTHA) ที่เข้าซื่้อขายเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ราคาหุ้นปิดการซื้อขายวันแรกปรับตัวสูงสุด โดยอยู่ที่ 6.20 บาท เพิ่มขึ้น 2.50 บาท หรือ 67.57% จากราคา IPO ที่ 3.70 บาท และ บมจ.วันทูวัน คอนแทคส์ (OTO) เข้าซื้อขายเมื่อ 15 พ.ค. ปิดที่ระดับ 8.70 บาท เพิ่มขึ้น 3.30 บาท หรือ 61.11% จากราคา IPO ที่ 5.40 บาท

ส่วนหุ้นใหม่ที่เปิดการซื้อขายวันแรกต่ำกว่าราคาจอง มีจำนวน 2 บริษัท นั่นคือ บมจ.เอไอ เอนเนอร์จี (AIE) เข้าซื้่อขาย 6 ม.ค. ปิดที่ระดับ 3.54 บาท ลดลง 1.21 บาท หรือ -25.47% จากราคา IPO ที่ 4.75 บาท และ บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) เข้าซื้อขาย 28 เม.ย. โดยปิดที่ 9.70 บาท ลดลง 0.30 บาท หรือ 3.00% จากราคา IPO ที่ 9.70 บาท ซึ่งทั้ง 2 บริษัทยังไม่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือราคา IPO นับตั้งแต่วันเข้าซื้่อขาย

นอกจากนี้ พบว่าหุ้นของ บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI) ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมาก แต่ในการเข้าซื้อขายเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เพียง 3.20 บาท หรือ 24.62% ปิดที่ 16.20 บาท จากราคา IPO 13.00 บาท

ขณะเดียวกัน พบว่า ณ วันที่ 25 มิ.ย. บมจ.ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 (SAWAD) เป็นบริษัทที่มีราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดจากวันที่เข้าซื้อขายครั้งแรกเมื่อ 8 พ.ค. โดยอยู่ที่ระดับ 16.00 บาท เพิ่มขึ้น 131.88% จากราคา IPO 6.90 บาท

นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมนเนจเม้นท์ จำกัด วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ IPO ทั้งปี 2557 ว่า ต้องแยกวิเคราะห์ออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงก่อนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) จะเข้ามาปฏิรูปประเทศ และหลังจาก คสช. เข้ามาลบภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้น  โดยมีความเคลื่อนไหวหุ้น IPO 3 ตัวล่าสุด ประกอบด้วย บมจ.เซ็บเป้ หรือ SAPPE  บมจ.เธียรสุรัตน์ หรือ TSR และ บมจ.ไทย อะโกรเอ็นเนอร์ยี่ หรือ TAE เป็นเครื่องยืนยันความมั่นใจของนักลงทุน
 
“คงต้องยอมรับว่า ภาพความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลากว่า 6 เดือนที่ผ่านมา กดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นอย่างมากเห็นได้จาก บมจ.เอไอ เอนเนอร์จี จำกัด (มหาชน) หรือ AIE ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai  เปิดศักราช IPO ตัวแรกของปีด้วยราคา IPO ที่ 4.75 บาท/หุ้น และช็อกตลาดเมื่อทันทีที่เปิดตลาดราคาปรับตัวลดลง 0.43 บาท หรือ 9.05% จากราคา IPO จนนายณรงค์ ธารีรัตนาวิบูลย์ ประธานกรรมการ ต้องออกมายอมรับว่าเป็นเพราะผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนหด แต่ยังคงเป้ารายได้เติบโตต่อเนื่องปีละ 30% และตอกย้ำความเชื่อมั่นนักลงทุนว่าบริษัทยังคง Backlog เต็มทั้งปี”
 
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอสเซท โปร แมนเนจเม้นท์ ยืนยันว่า ภาพการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในครึ่งปีหลังจะสดใสมากขึ้นเนื่องจากตลาดทุนยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของบริษัทที่ต้องการเข้ามาระดมทุน ขณะเดียวกัน ยังคงอยู่ในความสนใจของนักลงทุนที่ต้องการแสวงหาผลกำไรที่ดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบัน  พร้อมกล่าวแสดงความมั่นใจว่า การประกาศยุติความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐของสหภาพยุโรป และการปรับลดอันดับการค้ามนุษย์ของไทยลงสู่ระดับต่ำสุดของสหรัฐฯ จะไม่ส่งผลกระทบต่อ Fund Flow จากต่างชาติ เพราะหากเทียบความน่าสนใจระหว่างตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเซีย แม้ไทยจะมีขนาด 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นอันดับที่ 3 ส่วนอันดับ 1 คือ ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ที่มีขนาดถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาค และมีกลุ่มธุรกิจให้เลือกเข้าลงทุนมากที่สุด ดังนั้น หากนักลงทุนต้องการแสวงหาผลกำไร ตลาดหุ้นไทยยังคงเป็นตลาดหนึ่งที่ได้รับความสนใจอันดับต้นต้นในโลก
 
“ผมคาดว่าบริษัทที่ยื่นไฟลิ่ง และพร้อมจะเดินหน้านำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยช่วงครั้งปีหลังน่าจะยังมีอีกประมาณ 30-35 บริษัท โดยมีบริษัทผมเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้ประมาณ 4 บริษัท ซึ่งถือว่ามากกว่าทั้งปี 2556 ที่มีบริษัทเข้าซื้อขายทั้งสิ้น 28 บริษัท ทุกบริษัทล้วนน่าสนใจ คิดง่ายๆ ว่าตอนนี้อัตราดอกเบี้ยต่ำกันเกือบทุกประเทศทั่วโลก นักลงทุนที่ต้องการผลกำไรก็ต้องหันเงินเข้าสู่ตลาดที่สามารถทำกำไรให้ได้สูงสุด การเมืองระหว่างประเทศก็คือการเมืองระหว่างประเทศ การลงทุนก็คือการลงทุน ผมว่านักลงทุนแยกได้” นายสมภพ กล่าว

พร้อมคาดการณ์ผลประกอบการ และอัตรากำไรเฉลี่ยทั้งปี 2557 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ว่า จะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเป้าหมายที่แต่ละบริษัทตั้งไว้ เนื่องจากเมื่อภาพทางการเมืองคลี่คลาย ความมั่นใจของผู้บริโภคกลับมาดีขึ้น การจับจ่ายใช้สอยตามปกติ ประกอบกับทุกบริษัทพยายามเร่งผลประกอบการใน 2 ไตรมาสสุดท้ายอย่างต่อเนื่อง

รายชื่อบริษัทที่เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในครึ่งปีหลังมีทั้งสิ้น 5 บริษัทได้แก่ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)  หรือ AKARA  ประกอบธุรกิจการสำรวจและการทำเหมืองแร่ทองและเงิน รวมทั้งการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทองและเงิน เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป  หรือ IPO ทั้งหมด 17,375,000 หุ้น มี บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ บล.แมคควอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน, บริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATAV  ประกอบธุรกิจการลงทุนในบริษัทที่พัฒนา และประกอบกิจการนิคมอุตสาหกรรม และกิจการที่เกี่ยวเนื่องในเวียดนาม IPO ทั้งหมด 139,832,400 หุ้น  มี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ บล.โอเอสเค (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA  ประกอบธุรกิจสายการบินที่ให้บริการแบบเต็มรูปแบบ ภายใต้แบรนด์ “บางกอกแอร์เวย์ส” IPO ทั้งหมด 730,000,000 หุ้น ที่ปรึกษาทางการเงิน คือ บล.บัวหลวง จำกัด (มหาชน), บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BG  ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์แก้ว และผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ประเภทอื่นๆ IPO ทั้งหมด 241,400,000 หุ้น ที่ปรึกษาทางการเงิน คือ บล.กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) BRR ประเภทธุรกิจ ถือหุ้นในบริษัทอื่นในธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย และธุรกิจพลอยได้จากการผลิตน้ำตาล เช่น ธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจปุ๋ย IPO ทั้งหมด 169,182,500 หุ้น ราคา PAR 1.00 บาท/หุ้น ที่ปรึกษาทางการเงิน คือ บล.เคที ซีมิโก้ จำกัด
 
ขณะที่บริษัทจดทะเบียนที่จะเข้าตลาด เอ็ม เอ ไอ มีทั้งสิ้น  15  บริษัท ได้แก่ บมจ.ไอร่า แคปปิตอล หรือ AIRA จำนวน IPO ทั้งหมด 758,600,400 หุ้น, บมจ.ซีซีเอ็น-เทค หรือ CCN  จำนวน IPO 60,000,000 หุ้น, บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส หรือ FSMART จำนวน IPO ทั้งหมด 200,000,000 หุ้น, บมจ.ไฟร์วิคเตอร์ หรือ FV จำนวน IPO ทั้งหมด 45,000,000 หุ้น, บมจ.แอลดีซี เด็นทัล หรือ LDC จำนวน IPO ทั้งหมด 120,000,000 หุ้น, บมจ.เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์  หรือ NCL จำนวน IPO ทั้งหมด 95,000,000 หุ้น, บมจ.เน็ตเบย์ หรือ NETBAY จำนวน IPO ทั้งหมด 40,000,000 หุ้น
 
บมจ.พรอดดิจิ หรือ PDG จำนวน IPO ทั้งหมด 70,000,000 หุ้น, บมจ.เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี หรือ PSTC จำนวน IPO ทั้งหมด 450,000,000 หุ้น, บมจ.ระยองไวร์ อินดัสตรีส์ หรือ RWI จำนวนหุ้นที่ IPO ทั้งหมด 150,000,000 หุ้น, บมจ.สมาร์ทคอนกรีต หรือ SMART จำนวน IPO ทั้งหมด 115,000,000 หุ้น, บมจ.สยามเวลเนสกรุ๊ป หรือ SPA จำนวน  IPO ทั้งหมด 170,000,000 หุ้น
 
บมจ.ทาคูนิ กรุ๊ป หรือ TAKUNI  จำนวน IPO ทั้งหมด 100,000,000 หุ้น, บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ หรือ TSE จำนวน IPO ทั้งหมด 450,000,000 หุ้น  และ บมจ.เอ็กโซติค ฟู้ด หรือ XO จำนวน IPO ทั้งหมด 70,000,000 หุ้น
 
นับว่าเป็นเรื่องที่น่าจับตามองว่า บริษัทใหม่กว่า 20 บริษัทนี้จะตัดสินใจเดินหน้าระดมทุนตามกำหนดการเดิม หรือภายในครึ่งปีหลัง 2557 หรือไม่ เช่นเดียวกับราคาหุ้นที่จะเข้าทำการซื้อขายวันแรก จะประสบความสำเร็จยืนเหนือราคาจองหลังปิดตลาดซื้อขายมากน้อยแค่ไหน ภายใต้สถานการณ์ที่มี คสช.เข้าจัดการแก้ไขความขัดแย้งภายในประเทศ ท่ามกลางเสียงต่อต้านจากประเทศขนาดใหญ่


กำลังโหลดความคิดเห็น