xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต. กระตุ้น บล.-บลจ. ร่วมแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก.ล.ต. ขอให้ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ทั้ง บล. และ บลจ. เปิดเผยดัชนีวัดความคืบหน้าในการดำเนินการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัทจดทะเบียนแต่ละบริษัทไว้ในบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป

นายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. ขอความร่วมมือ บล. ให้เปิดเผยดัชนีชี้วัดความคืบหน้าการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน หรือ “Anti-corruption Progress Indicator” ไว้ในบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่เปิดเผยเฉพาะผลประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการ (CG) ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป เพื่อช่วยผลักดันบริษัทจดทะเบียนให้มีนโยบายและดำเนินงานเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ขณะที่ขอให้ บล. และ บลจ. ใช้ดัชนีดังกล่าวเป็นปัจจัยพิจารณาลงทุนเพื่อกองทุนภายใต้การจัดการ และพอร์ตของบริษัทเอง ตลอดจนนำแนวทางการออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นที่กลุ่มผู้ลงทุนสถาบันไทยได้ประกาศไว้ มาใช้เป็นแนวทางใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมด้วย

“ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ดูแลเงินของประชาชนจำนวนมาก จึงควรเป็นต้นแบบของธุรกิจอื่นในการให้ความสำคัญต่อการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง หาก บล. และ บลจ. ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว และยึดถือเป็นแนวทางดำเนินธุรกิจ ย่อมช่วยสร้างแรงกดดันทางสังคม และเป็นแบบอย่างที่ดีให้เกิดการปฏิบัติตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทจดทะเบียนที่ต้องการการยอมรับจากผู้ลงทุน และผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้ลงทุนรายอื่นเห็นความจำเป็นในการลงทุนในกิจการที่ยึดนโยบายดังกล่าว ในทางตรงกันข้าม บล. และ บลจ. อาจได้รับแรงกดดันจากสังคมได้ หากขาดความมุ่งมั่นในการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญต่อการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ในขณะที่ผู้ร่วมธุรกิจอื่น หรือผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนตระหนักและดำเนินการในเรื่องดังกล่าวไปมากแล้ว” นายชาลี กล่าว

ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะจัดสัมมนาร่วมกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เพื่อกระตุ้นให้คณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของ บล. และ บลจ. เห็นความจำเป็นในการเข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition: CAC) โดยในปัจจุบันมี บล. ที่เป็นผู้นำในเรื่องนี้โดยได้รับประกาศนียบัตรรับรองแล้ว 4 แห่ง คือ บล.กสิกรไทย บล.ทิสโก้ บล.กรุงศรี และ บล.ภัทร และมี บลจ. ที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองแล้ว 3 แห่ง คือ บลจ.กสิกรไทย บลจ.ทิสโก้ และ บลจ.กรุงศรี ทั้งนี้ เชื่อว่าภายในสิ้นปีนี้ บล. และ บลจ. ทั้งหมดจะสามารถเข้าสู่กระบวนการของ IOD และได้รับใบรับรองครบทุกแห่ง ซึ่งจะเปิดเผยความคืบหน้าให้ทราบต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น