xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเบื้องหลัง! คลิปสะเทือนปู “อย่าปล่อยให้คนโกงมีที่ยืนอยู่ในสังคม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“บ้านเราโกงจริงหรือครับแม่?” คำถามอันแสนน้อยเนื้อต่ำใจหลุดหล่นออกมาจากปากเด็กน้อยคนหนึ่งในโฆษณาต่อต้านคอร์รัปชันที่กำลังเป็นกระแสพูดถึงในโลกออนไลน์ จากคำร่ำลือที่ว่า โฆษณาตัวนี้พุ่งตรงแทงทะลุใจรักษาการนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเข้าอย่างจัง นำมาซึ่งคำถามหลายข้อต่อเบื้องลึกเบื้องหลังงานโฆษณาชิ้นนี้

เบื้องหลัง “สังคมโกงต้องหมดไป”
 
หลังจากประเด็นที่ผู้ชมโยงว่า 1 ในโฆษณาชุด “อย่าให้คนโกงมีที่ยืนอยู่ในสังคม” ในตอนที่ชื่อ “ลูกคนโกง” มีตัวเอก(หรือคนโกง)ที่มีรูปลักษณ์คล้ายรักษาการนายกฯยิ่งลักษณ์ เกิดเป็นประเด็นที่หลายคนหยิบยกเอามาพูดถึง หากเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็ย่อมจะเห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทว่า ฝ่ายตรงข้ามก็โจมตีถึงความไม่เหมาะสมของโฆษณาชิ้นดังกล่าว

ผู้อยู่เบื้องหลังโฆษณาดังกล่าวคือ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) หรือ Anti-corruption organization of thailand (ACT) องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาการคอร์รัปชันในหลายรูปแบบ โดยโฆษณาชุดดังกล่าวอยู่ในแนวทางหนึ่งของการปฏิรูปประเทศให้หลุดออกจากปัญหาคอร์รัปชัน

ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโฆษณาชุดดังกล่าวว่า มาจากเป้าหมายสำคัญขององค์กรคือ การรณรงค์ให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่ไม่ยอมรับการคอร์รัปชัน

“พูดง่ายๆ คือ เราต้องการสังคมที่ทุกคนไม่ยอมรับคนโกงน่ะครับ เพราะทุกวันนี้คนเวลาโกงนะครับ เขาทำกันโดยไม่อายตัวเอง ไม่อายคนอื่น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีมาตรการทางกฎหมาย หรืออะไรก็แล้วแต่ เขาจะหาทางหลีกเลี่ยง กระทั่งลงท้ายด้วยการโกง เราจึงอยากรณรงค์ให้สังคมไทยทั้งหมดลุกขึ้นมาพูด ลุกขึ้นมาปฏิเสธให้พวกคนโกงทั้งหลายรู้ว่า จากนี้ไปคนไทยเราจะสู้ และคนไทยเราจะไม่ยอมรับให้เกิดการคอร์รัปชันใดๆ ขึ้นมาอีก”

ด้วยแนวคิดดังกล่าวจึงเกิดมาเป็นแคมเปญที่ชื่อว่า “อย่าปล่อยให้คนโกงมีที่ยืนอยู่ในสังคม” เป็นโฆษณา 6 ตอนเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในหลายรูปแบบ โดยตัวละครที่โกงจะมีตั้งแต่ นักการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จนถึงชั้นผู้น้อย นักธุรกิจนายทุนจนถึงประชาชนที่ขายเสียงของตัวเอง

ทั้งนี้ ต้นกำเนิดของไอเดียทั้งหมด เขาเผยว่า มาจากการศึกษาปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยที่ฝังรากเป็นปัญหามาอย่างยาวนาน มาตรการทางกฎหมายที่ก้าวไม่ทันพัฒนาการของคนเหล่านี้ยิ่งจะทำให้การโกงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยกระบวนการและวิธีการที่ยิ่งสลับซับซ้อน สอดประสานกับการแสวงหาพรรคพวกสร้างเครือข่ายร่วมกันก่อการโกงยิ่งทำให้การทำผิดดำเนินไปได้อย่างยากจะหยุดยั้ง

“ปัจจุบันเราจะเห็นว่า คนโกงนั้นมีมากขึ้นแต่ไม่ถูกดำเนินคดี ทำให้สถานการณ์การคอร์รัปชันของประเทศเราเลวร้ายลงเรื่อยๆ”

และจากการศึกษาหาแนวทางในการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันก็ทำให้เกิดยุทธศาสตร์หลายอย่างขึ้นมา 1 ในนั้นคือการรณรงค์อย่างเข้มข้นในด้านของคุณธรรมและจริยธรรม เป็นการต่อต้านการคอร์รัปชันครั้งใหญ่ ดร.มานะ เผยว่า มีตัวอย่างจากฮ่องกงที่ประสบความสำเร็จจากการลดปัญหาคอร์รัปชันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

“ที่ฮ่องกงเวลาต่อต้านการคอร์รัปชันเขาจะไม่พูดในหลักการ และจะไม่นำเสนอภาพนักการเมืองขอให้แก้คอร์รัปชันด้วย แต่จะนำเสนอภาพที่เป็นแบบอย่างที่ประชาชนเข้าใจได้ชัดเจนว่าอะไรคือคอร์รัปชัน แล้วประชาชนจะช่วยได้อย่างไร เหมือนกันกับแนวทางของหนัง 6 เรื่องที่ทำมา”

เขายกตัวอย่างโฆษณารณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชันตอนหนึ่งในฮ่องกงซึ่งเป็นที่ฮือฮามาก เขาเล่าว่า หลังจากที่มีการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันมาได้ระยะหนึ่ง ฮ่องกงก็เริ่มรณรงค์ให้ประชาชนอย่านิ่งเฉย แต่ให้ร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน (ป.ป.ช.) ของฮ่องกงทันที และปปช.จะดำเนินการสอบสวนทุกคดีไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่

“ในหนังโฆษณาเป็นเรื่องของแม่กับลูกที่กำลังกินข้าวอยู่ แล้วเห็นตำรวจกำลังรีดไถเงินคนอื่น แม่บอกให้ลูกวางตะเกียบวางช้อนทันทีแล้วจูงมือกันไปที่ป.ป.ช.ฮ่องกง ร้องเรียนเลยว่า ตอนนี้กำลังมีพฤติกรรมโกงอยู่ตรงนั้น เป็นการสร้างแบบอย่างให้ประชาชนเห็นว่า เมื่อคุณเจอ คุณเห็นพฤติกรรมแบบนี้ขอให้คุณรายงานทันทีเพื่อต่อสู้คัดค้านสิ่งที่เป็นอยู่”

ภาพสะท้อน...ปูสะเทือน

กระแสสังคมที่พูดถึงโฆษณาชุดดังกล่าวโดยเฉพาะตอน ลูกคนโกง ดูจะเป็นไปในทางที่ว่า โฆษณาชิ้นนี้มีตัวเอกที่ดูคล้ายกับรักษาการนายกฯอย่างน่าตกใจ จากปากคำของผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เผยว่า โฆษณาตอนดังกล่าวนั้นมีเป้าหมายเพื่อสะท้อนภาพไปถึงพ่อแม่ที่หากโกงก็จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน หากจะให้เห็นภาพรวมได้ชัดเจนก็ต้องดูให้ครบ 6 ตอน

“อันนี้เป็นความบังเอิญเพราะตัวคนโกงในเรื่องนี้ก็เข้าใจว่าจะมีผู้หญิงอยู่ 2 ตอน ผู้ชายอยู่ 4 ตอน เป็นเหตุบังเอิญจริงๆ ไม่มีความตั้งใจครับ เพราะในการทำงานขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เรารู้ดีว่า ปัญหาคอร์รัปชันไม่สามารถทำให้หมดไปได้ในช่วง 2-5 ปี แต่เป็นเรื่องที่เราต้องต่อสู้กัน 20 - 30 ปี เราต้องทำวันนี้เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต ฉะนั้น ณ วันนี้เราก็หลีกเลี่ยงที่จะโจมตีนักการเมืองเป็นตัวบุคคล”

เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาคอร์รัปชันที่หนักหน่วงขึ้น รัฐบาลทั้ง 6 รัฐบาลในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีชุดไหนที่มีนโยบายกำจัดคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรมและนำไปปฏิบัติได้เลย

“ปัญหามันก็เลยรุนแรงขนาดนี้ ดังนั้นเวลาเราพูดถึงรัฐบาลเราเลยอยากจะบอกว่า มันเป็นภาพแทนทุกรัฐบาล นักการเมืองทุกคน ข้าราชการทุกคนที่โกงอยู่ในระบบขณะนี้มากกว่า”

ในส่วนของกระบวนการทำงาน เขาเผยว่ามีการกำหนดรายละเอียดเลยว่า แนวทางของแต่ละเรื่องจะเป็นอย่างไร? เดินเรื่องอย่างไร? คำพูดอย่างไร? องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯทำงานกับผู้จัดทำโดยมีการตรวจสอบทุกอย่าง

“แต่ไม่มีการกำหนดว่า อันนี้ให้สะท้อนนายกฯ อันนี้ให้สะท้อนรัฐมนตรีท่านไหน อันนี้ให้สะท้อนปลัดกระทรวงไหน ไม่มีครับ เป็นภาพที่แท้จริงโดยรวมของสังคมไทย”

ในส่วนของการลงโทษที่โฆษณานำเสนอการลงโทษไปที่เด็กในเรื่องนั้น เขาพูดในฐานะ 1 ในผู้ควบคุมเนื้อหาว่า ไม่เคยคิดจะลงโทษไปที่เด็ก นอกจากต้องการสื่อว่า ถ้าคุณทำชั่ว ผลร้ายจะไปตกอยู่กับครอบครัวของคุณเอง

“เราไม่ได้คิดในประเด็นว่าจะไปลงโทษตัวเด็กเป็นหลัก เราต้องการจะบอกตัวผู้ใหญ่โดยตรงเท่านั้นเองครับ และเราต้องอย่าลืมว่า ในความเป็นจริงที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ผู้ปกครองที่ทุจริตแล้วร่ำรวยจำนวนมากที่เป็นข่าวอยู่ในสังคม ลูกหลานของเขาเมื่อไปอยู่ในสังคม อยู่ในโรงเรียนกลับเชิดหน้าชูตามากกว่าเสียอีก”


กระเทาะเปลือกงานโฆษณา

“แคมเปญโฆษณาอย่าให้คนโกงมีที่ยืน หมายถึงว่าคนไทยควรล้างมายาคติ ล้างความคิดความเชื่อแบบนี้ไปสักที เพราะว่ามันเป็นความคิดที่ผิด คนโกงในสังคมไทยไม่ว่าจะโกงมากโกงน้อยก็ไม่ควรจะมีที่ยืนในสังคม ตัวเมสเสจของมันชัดมากในสถานการณ์ที่สังคมไทยเป็นอยู่”

ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) แสดงทัศนะถึงแคมเปญโฆษณาชุดดังกล่าว โฆษณาที่ปล่อยออกมานั้นมีหลายเวอร์ชัน เขามองว่าบุคคลในโฆษณา คนที่ถูกประทับตราว่าโกงอยู่ที่หน้าผากเป็นคนที่มีอายุทั้งนั้น และอยู่ในกลุ่มนักการเมืองในฐานะที่มีอำนาจการปกครองทางสังคม คอนเทนต์ชัดเจนคือ สื่อถึงผู้มีอำนาจทางสังคมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน

“ปัญหาอย่างหนึ่งของสังคมไม่ใช่แค่ตัวผู้ที่คอร์รัปชันเอง แต่ว่ายังรวมถึงผู้คนในสังคมที่มองว่าการคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติที่พร้อมจะทำได้ หรือว่าเป็นเรื่องที่ แหม! ใครๆ เขาก็ทำกัน เนื้อหาสาระสำคัญของมันต่างหากที่น่าสนใจ เพราะว่าการพูดว่า อย่าให้คนโกงมีที่ยืนทางสังคม หมายถึงว่าตัวคนทำองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน เขาก็บอกว่าจริงๆ คนไทยควรที่จะเปลี่ยนความคิด หรือว่ามายาคติที่เราใช้กันมาตลอด เช่น เราชอบนับถือคนที่มีเกียรติยศ มีศักดิ์ศรี เข้าทำนอง มีเงินเรียกน้อง..มีทองเรียกพี่

เมื่อส่องสำรวจยอดวิวจากยูทิวบ์ยอดผู้ชมยังอยู่ที่หลักแสนวิว ขณะที่ฟรีทีวีช่องต่างๆ ก็แพร่ภาพโฆษณาชุดนี้เพียงประปราย ส่งผลให้การรับรู้ของภาคประชาชนอาจยังไม่ได้ผลตอบรับดีเท่าไหร่นัก ธาม กล่าวว่า ถ้าพิจารณาจากแคมเปญดังกล่าวแล้ว เข้าใจว่าคณะผู้จัดทำต้องการให้เป็นไวรัลวิดีโอปลุกกระแสบนโลกออนไลน์เสียมากกว่า

“ออนแอร์ทีวีแต่น้อยมากเลย ผมเห็นช่องไทยพีบีเอส กับช่องเคเบิ้ลทีวี และก็มีฟรีทีวีช่อง 7 ช่อง 3 บ้าง พูดได้ว่าอยู่ในสัดส่วนที่น้อย”

อย่างไรก็ตาม เมื่อโฆษณาชุดดังกล่าวเข้าถึงกลุ่มผู้ชมในระดับต่างๆ สารที่ถูกสื่อผ่านแคญเปญโฆษณารณรงค์ทางสังคมอย่าให้คนโกงมีที่ยืน ย่อมส่งผลถึงทัศนคติอย่างเลี่ยงไม่ได้ ด้วยความที่โฆษณาสื่อออกมาได้ตรงไปตรงมา และตีแสกหน้าทุกกลุ่มคนที่มีเอี่ยวในประเด็นคอร์รัปชัน

“โฆษณานี้กวาดการตีกระทบชิ่งหลายคนมากๆ เลย ตั้งแต่คนที่ได้รับผลกระทบจากการโกงต้องไม่ยอม คนที่โกงไม่ควรที่จะหยิ่งผยองเกินไป อย่าคิดว่าจะทำอะไรก็ได้ และกลุ่มคนที่สามคนที่เคยมองเรื่องเหล่านี้อย่างไม่เดือดร้อนอนาทร เป็นกลุ่มคนที่ไม่ยุ่ง 'ไทยเฉย' โอเค..เรื่องของเขาเราไม่ยุ่ง ตัวเมสเสจนี้มันค่อนข้างมีพลังมากครับ”

ทว่า กับงานโฆษณารณรงค์ที่มีตลอดของการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน หลายคนมองว่า มันไม่ใช่การแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด ธามยอมรับว่า วัตถุประสงค์ของการโฆษณาไม่ได้สร้างมาเพื่อแก้ปัญหา การโฆษณาที่สร้างขึ้นมาเพื่อรณรงค์ทางสังคมเน้นหนักในเรื่องสร้างทัศนคติหรือปรับความเข้าใจเสียมากกว่า

“อ๋อ! จริงๆ แล้วเราเข้าใจผิดไปนะ จริงๆ แล้วคนที่โกง ไม่ควรมีที่ยืนทางสังคม เพราะฉะนั้น เมื่อคนที่อยู่ปลายทางรับรู้เมสเสจ แน่นอนเขาจะปรับความเข้าใจต่อเรื่องนั้นๆ ส่วนเรื่องต่อไปต้องขึ้นอยู่กับตัวสังคม ผู้คนในสังคม หน่วยงานราชการ หรือว่าคนที่มีอำนาจกลไกในการจัดการปัญหาคอร์รัปชันจะเอาจริงเอาจังกันจริงหรือเปล่า เมสเสจหลักของโฆษณาชุดนี้คือ โซเชียล แซงก์ชัน (มาตรการลงทัณฑ์ทางสังคม) คุณต้องช่วยกันรังเกียจ ช่วยกันแสดงออกถึงการต่อต้าน”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
 
ต่อไปนี้คือโฆษณาชุดดังกล่าวทั้ง 6 ตอน














หญิงสาวผู้ถูกตราหน้าว่า โกง
ลูกคนโกง

การประนามจากสังคม
ยอดวิวอยู่แสนกว่าวิว
กำลังโหลดความคิดเห็น