xs
xsm
sm
md
lg

หน่วยงานรัฐหนาวคนภูเก็ตผุดเครือข่ายต้านการทุจริต-คอร์รัปชัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ภูเก็ตผุดเครือข่ายการต่อต้านการทุจริต ระบุปัญหาคอร์รัปชันเกิดขึ้นทั่วประเทศ เหตุหน่วยงานราชการยังยึดติดกับระบบอุปถัมภ์ มองปัญหาการทุจริตเป็นเรื่องธรรมดา ชวนคนภูเก็ตรวมกลุ่มต้านคอร์รัปชัน
ดร. สุรินทร์ บำรุงผล ผู้ก่อตั้งเครือข่ายการต่อต้านการทุจริตในภูเก็ต
ดร.สุรินทร์ บำรุงผล ผู้ก่อตั้งเครือข่ายการต่อต้านการทุจริตในภูเก็ต กล่าวถึงการจัดตั้งเครือข่ายการต่อต้านการทุจริตในภูเก็ต ว่า ปัญหาการคอร์รัปชันเกิดขึ้นทั่วประเทศไทย ไม่เว้นแม้แต่ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก และมีนักธุรกิจถือเงินเข้ามาลงทุนจำนวนมหาศาล แต่หน่วยงานราชการภูเก็ตก็เหมือนกับที่อื่นๆ ในประเทศไทย คือ ยังติดกับค่านิยมในระบบอุปถัมภ์ และความชินชาต่อการทุจริตที่ได้ฝังรากลึกลงมาอย่างช้านาน จนดูเหมือนว่าเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ คนคงจะประสบกับตัวเองในการติดต่อหน่วยงานต่างๆ เช่นเรื่องของการขออนุญาตทำโครงการ การลงทุนทำกิจการใหม่ ซึ่งเป็นไปด้วยความล่าช้าเนื่องจากติดขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินการ รวมทั้งเรื่องของการเลือกปฏิบัติ โดยสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคในการพัฒนาภูเก็ตทั้งสิ้น เพราะทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนลดน้อยลง ทำให้ขาดความสามารถในการแข่งขัน และไม่เป็นสากล

“ตนจึงมีความคิดที่จะรวบรวมภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นเครือข่าย เพื่อช่วยกันตรวจสอบ และร่วมกันหาหนทางที่ทำให้ภูเก็ตโปร่งใสทั้งระบบ ให้สมกับเป็นจังหวัดผู้นำของประเทศ ไทย ซึ่งขณะนี้การจัดตั้งเครือข่ายดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนต่างๆ ดังนี้ 1.รวบรวมสมาชิก เครือข่ายต่อต้านการทุจริตภูเก็ต ผู้สนใจสมัครได้จากทุกภาคส่วน ที่ http://www.phuket-anti-corruption.com/website_apply.html 2.ทำการวิจัยเชิงสำรวจเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การทุจริตรวบรวมข้อมูลการสูญเสียอย่างชัดเจนรวมถึงการเทียบเคียงมูลค่าของการเสียโอกาสของความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติของภูเก็ต ร่วมให้ข้อมูลการวิจัยได้ที่ http://www.phuket-anti-corruption.com/

3.รณรงค์ให้ภาคประชาสังคม เอกชน ตระหนักถึงภัยของการทุจริตที่จะส่งผลถึงทุกคนในสังคม รวมถึงการช่วยกันตรวจสอบ ส่งข่าว และร่วมกันต่อต้าน และไม่ตกลงสมยอมในการร่วมทุจริตทุกภาคส่วน โดยมีแผนการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและจริงจัง 4.รณรงค์ให้ภาคเอกชนเห็นภัยของการร่วมยินยอมในการเสนอมอบให้ที่เป็นที่มาของการคอร์รัปชันเพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าผลประโยชน์ของชาติ 5.เสริมสร้างและปลุกจิตสำนึกให้เยาวชนเริ่มจากครอบครัว หน่วยงาน และท้องถิ่นที่อาศัยให้ไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชัน 6.นำเสนอและผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐยินยอมให้ประชาชนมีส่วนร่วม และตรวจสอบอย่างจริงจังและเสนอกฎหมายให้คุ้มครองประชาชนที่ชี้เบาะแสการทุจริต และ 7.ร่วมกับนักวิชาการศึกษาข้อมูลในต่างประเทศที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของเครือข่ายการป้องกันการทุจริต และได้รับความสำเร็จแล้ว เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์

ดร.สุรินทร์ ยังได้กล่าวต่อไปว่า ภูเก็ตกําลังโต แต่โตแบบผิดๆ มีการทุจริตกันเกือบทุกหน่วยงาน ถึงแม้ว่าจะมีหน่วยงานจากรัฐ เช่น ป.ป.ท. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ซึ่งเป็นหน่วยในในกระทรวงยุติธรรม หรือ ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ แต่การทำงานที่จะให้สำเร็จได้ผลจำเป็นต้องมีทุกภาคส่วน หรือภาคประชาสังคม คือ ภาครัฐ ประชาชน สถานประกอบการเอกชน สื่อมวลชน ร่วมด้วย จึงเป็นที่มาของเครือข่ายต่อต้านการทุจริตจังหวัดภูเก็ต

ภูเก็ตเราเติบโตเร็วมีความเจริญก้าวหน้าทุกด้าน มีการลงทุน และหมุนเวียนทางเศรษฐกิจดีมาก เช่น จังหวัดภูเก็ต มียอดผลิตภัณฑ์มวลรวมจำแนกเป็นรายภาค และจังหวัด ข้อมูลในปี พ.ศ.2553 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร จะพบว่าจังหวัดภูเก็ต มีตัวเลขสูงเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้คือ มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี = 262,529 บาท และเป็นอันดับ 10 ของประเทศ เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอาจถึง 12 ล้านคน ใน 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งในจำนวนนั้น 80% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ขณะเดียวกัน ภูเก็ตยังเป็นศูนย์รวมของจังหวัดใกล้เคียงเช่น พังงา กระบี่ ตรัง ดูได้จากสถานศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยในภูเก็ต มีนักศึกษามากกว่าครึ่งเข้ามาจากจังหวัดใกล้เคียง หากดูด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นจังหวัดที่มีมูลค่าสูงที่สุดเช่น วิลลาระดับไฮเอนด์ ราคาสูงถึง 120 ล้านต่อหลัง เป็นที่พัก หรือบ้านหลังที่ 2 ของบุคคลที่มีระดับจากทั่วโลก รวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งจากราชวัง หรือนักกีฬาระดับโลกก็เข้ามามีบ้านในภูเก็ต
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น