xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์เชื่อ กนง. คงดอกเบี้ยยาวถึงสิ้นปี คาดหวัง “โรดแมป” กระตุ้น ศก.ปีนี้เติบโตได้ 2.5%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิเคราะห์ ศก. ทีเอ็มบี คาดมติบอร์ด กนง.คงดอกเบี้ยยาวถึงสิ้นปี พร้อมคาดหวังโรดแมป คสช. กระตุ้น ศก.ปีนี้เติบโตได้ 2.5% ขณะเดียวกัน ก็ต้องจับตาประเด็นเงินเฟ้อ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ประเมินท่าทีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2 ในการประชุมวันพุธที่ 18 มิ.ย.นี้ และมีโอกาสคงดอกเบี้ยยาวยันสิ้นปีเพื่อประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่จากเดิมที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีคาดว่า จีดีพีปี 57 นี้จะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.0 ก็อาจจะมีโอกาสเห็นในระดับร้อยละ 2.5 ได้

ทั้งนี้ สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองของไทยที่ส่งสัญญาณคลี่คลาย ประกอบกับโรดแมปด้านเศรษฐกิจ และแนวนโยบายเร่งดำเนินการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นับว่าเป็นการช่วยปลดล็อกปัญหาการใช้จ่ายภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ่ายเงินแก่ชาวนาภายใต้โครงการรับจำนำข้าว หรือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ นำพาเศรษฐกิจไทยให้มีความหวังขึ้นอีกครั้ง

ขณะที่ประเด็นนี้เองที่เป็นการช่วยลดความกดดันต่อนโยบายการเงิน ที่ก่อนหน้านี้ต้องฉายเดี่ยวมาตลอดเนื่องจากนโยบายการคลังเข้าสู่ภาวะสุญญากาศไปครึ่งปี ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะตัดสินใจไม่ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม แต่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 2 ไปอีกระยะหนึ่ง และอาจคงไว้จนถึงสิ้นปี 57 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมที่จะเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี

ขณะเดียวกัน มองว่าสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีเพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายของทั้งภาครัฐ และเอกชนหลายภาคส่วนที่จะเพิ่มขึ้นรับอานิสงส์มาตรการเร่งด่วนของ คสช. ทำให้ กนง.ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องหั่นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อหนุนสภาพคล่องในระบบ และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่กำลังกระชับพื้นที่การใช้นโยบายดอกเบี้ยแบบผ่อนคลายของ กนง.คือ เงินเฟ้อซึ่งเร่งตัวขึ้นเรื่อยๆ ตามที่ศูนย์วิเคราะห์ฯ รายงานไว้ก่อนหน้าว่า เงินเฟ้อไทยกลับมาเป็นช่วงขาขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว ตัวเลขล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ชี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยเดือนพฤษภาคมปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 2.62 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 2.45 ในเดือนเมษายน

ทั้งนี้ เพราะเงินเฟ้อเป็นตัววัดการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าที่ประชาชนใช้อุปโภคบริโภค จึงบ่งชี้ภาวะค่าครองชีพของคนไทยไปพร้อมๆ กัน ซึ่งแน่นอนว่า ภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันที่แม้จะยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่การเร่งตัวขึ้นดังกล่าวสะท้อนถึงค่าครองชีพของประชาชนที่มีการเร่งตัวขึ้นด้วย เช่น หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ มีราคาเฉลี่ยสูงขึ้นเกือบร้อยละ 5

นอกจากนี้ มาตรการดูแลเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเป็นการช่วยพยุงค่าครองชีพของประชาชนไปในตัว แน่นอนว่าในประเด็นนี้ ธปท.เองดำเนินนโยบายภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยกำหนดกรอบสำหรับการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน) ไว้ที่ร้อยละ 0.5 ถึง 3.0

ทั้งนี้ ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ กนง.มักจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่ออัตราเงินเฟ้อหล่นใกล้กรอบล่าง ตรงกันข้ามเมื่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มที่จะพุ่งแตะกรอบบน กนง.ก็มักจะเลือกขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของประเทศในเดือนพฤษภาคม 57 อยู่ที่ระดับร้อยละ 1.75 ซึ่งเป็นค่ากึ่งกลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท.พอดี ดังนั้น ปัจจุบัน กนง.จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลด หรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพของเงินเฟ้อ แต่ช่วงปลายปีที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยมีความเสี่ยงทะลุอัตราร้อยละ 2.0 จะทำให้ กนง.ทำงานยากขึ้นในการรักษาสมดุลระหว่างการหนุนจีดีพี กับการดูแลเงินเฟ้อ
กำลังโหลดความคิดเห็น