“คลัง” ดึง “บสย.-แบงก์พาณิชย์” อัดฉีดสินเชื่อ “เอสเอ็มอี” บรรเทาผลกระทบ ศก. ชะลอตัว โดยคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือได้ไม่ต่ำกว่า 52,000 ราย และเกิดสินเชื่อในระบบประมาณ 280,000 ล้านบาท
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะปัญหาการเมือง ทำให้ยอดขายเอสเอ็มอีลดลงจนได้รับผลกระทบอย่างมาก กระทรวงการคลัง จึงหารือกับธนาคารพาณิชย์ และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมกันปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี และค้ำประกันสินเชื่อให้แก่เอสเอ็มอีเพิ่ม
นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่เอสเอ็มอี โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อในโครงการ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) 5 ซึ่งปัจจุบันยังมีวงเงินค้ำประกันรองรับได้ถึง 165,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ไม่ต่ำกว่า 52,000 ราย และเกิดสินเชื่อในระบบประมาณ 280,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ คาดว่า บสย. จะออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบขณะนี้ โดยการยืดระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ลูกค้าเดิมของ บสย. ที่จะถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมต่ออายุการค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-31 ธันวาคม 2557 จำนวน 50,067 ราย คิดเป็นภาระค้ำประกันประมาณ 160,000 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้ลูกค้ามีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าว 2,800 ล้านบาท และคาดว่าจะนำเสนอคณะกรรมการ บสย. วันที่ 27 พฤษภาคม 2557 และมีผลใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2557
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง สมาคมธนาคารไทย บสย. กำลังหาแนวทางค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 50 ของวงเงินสินเชื่อ โดยเตรียมดึงสถาบันค้ำประกันสินเชื่อจากต่างชาติมาร่วมค้ำประกันกับ บสย. เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยสินเชื่อมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ปัจจุบัน บสย. ค้ำประกันสินเชื่อ 40 ล้านบาทต่อราย คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 1.75 โดยกระทรวงการคลัง พร้อมเจรจาให้คิดค่าธรรมเนียมอัตราผ่อนปรน โดย บสย. ยังมีวงเงินค้ำประกันที่เหลือ 165,000 ล้านบาท
ด้านนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า หากดึงสถาบันค้ำประกันสินเชื่อต่างชาติมาช่วยค้ำประกันจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน เอสเอ็มอีมีปัญหาได้รับผลกระทบจากยอดขายลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว หากได้เงินทุนช่วยเหลือจะทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่ม
ปัจจุบัน แม้เอ็นพีแอลของระบบจะอยู่ที่ร้อยละ 2 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ธนาคารพาณิชย์จึงต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ หากมีผู้ค้ำประกันน่าจะทำให้มีสินชื่อออกสู่ระบบ 150,000 ล้านบาท ส่วนกรณีประกาศกฎอัยการศึก มองว่าที่ผ่านมา การชุมนุมของกลุ่มการเมืองมีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรง กฎอัยการศึกจึงสามารถควบคุมปัญหาความรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้น จึงน่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม