บสย.เผยยอดสรุปตัวเลขนำเงิน สสว.มาช่วยจ่ายค่าเบี้ยค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอีอยู่ที่ 265 ล้านบาท เตรียมเสนอบอร์ดใหญ่ สสว.อนุมัติและประกาศใช้ในต้นเดือน มิ.ย. แจงตั้งเป้ายอดค้ำปีนี้ เหลือแค่ 57,000 ล้านบาท
นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของมาตรการช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอ จากที่เดิมทีทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ บสย.มีความเห็นร่วมกันว่าควรจะเสนอขอวงเงินจำนวน 300 ล้านบาทจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อนำมาจ่ายเบี้ยค้ำประกันปีแรกให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีที่ขอรับการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. เพื่อช่วยบรรเทาภาระแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว
ทว่า ล่าสุดจากการหารือของ บสย. ธปท. และ สสว.แล้ว สรุปวงเงินจะลดจาก 300 ล้านบาทมาอยู่ที่ 265 ล้านบาทเพื่อให้สอดคล้องกับงบการเงินของ สสว. โดยวงเงินดังกล่าวจะนำมาจ่ายเบี้ยค้ำประกันปีแรกในอัตรา 1.75% ต่อปี จะช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เกือบ 2 หมื่นล้านบาท โดยทางบอร์ดบริหาร สสว.เตรียมประชุมสิ้นเดือนนี้เพื่อเสนอบอร์ดชุดใหญ่ในการพิจารณาต่อไป คาดจะออกเป็นมาตรการช่วยเหลือได้ในต้นเดือน มิ.ย. 57
นายวัลลภเผยด้วยว่า จากปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจที่ชะลอตัวกระทบอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยชัดเจน สะท้อนผ่านทั้งตัวเลขการขาดความสามารถชำระหนี้ของเอสเอ็มอีเกิน 90 วันเพิ่มขึ้นถึง 30% อีกทั้งการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากรก็ลดลงเช่นกัน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ยอดค้ำประกันเอสเอ็มอีรายย่อยของ บสย.ในไตรมาส 1/4 ลดลงกว่าร้อยละ 40 แม้จะมีรัฐบาลใหม่ในไตรมาสที่ 3 สถานการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นต่อการลงทุนของเอสเอ็มอีก็คงยังไม่ฟื้นตัวมากนัก เนื่องจากถูกปัญหากระทบมาต่อเนื่องยาวนาน การฟื้นตัวคงจะเป็นได้แบบช้าๆ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เป้าการค้ำประกันสินเชื่อในปีนี้อาจอยู่ที่ประมาณ 57,000 ล้านบาท ส่วนปีหน้าหากจีดีพีขยายตัวได้ร้อยละ 4 การค้ำประกันของ บสย. น่าจะอยู่ประมาณ 120,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากที่กระทรวงการคลังได้ตั้งเป้าให้ปีนี้ (2557) บสย.ต้องมียอดค้ำประกัน 100,000 ล้านบาท แต่จากสถานการณ์จริงไม่สามารถจะทำได้แน่นอน ดังน้้น ทาง บสย.ได้ตั้งเป้าที่จะพยายามค้ำประกันได้ในปีนี้อยู่ที่ 57,000 ล้านบาท ต่ำกว่าปีที่แล้วซึ่งมียอดค้ำ 87,000 ล้านบาท ส่วนปีหน้า (2558) หากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้จริง และอัตราขยายตัวของจีดีพีได้ 4% ตั้งเป้าการค้ำประกันของ บสย.น่าจะอยู่ประมาณ 120,000 ล้านบาท
ผู้บริหาร บสย.เผยด้วยว่า สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อโดย บสย. ปัจจุบันมี 3 โครงการ คือ 1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานราก (Micro SMES) สำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่ขอกู้ผ่านธนาคารออมสิน โดย บสย.จะค้ำประกันให้สูงสุด 1 ล้านบาทต่อราย โดยกำหนดวงเงินไว้ไม่เกิน 3 พันล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องเสนอให้ ครม.อนุมัติในขั้นตอนสุดท้าย แต่เมื่อมีการยุบสภาทำให้เรื่องนี้ค้างอยู่
2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ (New/Start Up) ซึ่งเป็นโครงการค้ำประกันที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประกอบธุรกิจยังไม่ถึง 3 ปี ซึ่งปกติสถาบันการเงินจะไม่ให้สินเชื่อ หาก บสย.มาค้ำประกันให้กลุ่มนี้โอกาสที่จะได้รับสินเชื่อจะมีมากขึ้น โดย บสย.กำหนดวงเงินค้ำประกันสินเชื่อในโครงการนี้ที่ 1 หมื่นล้านบาท กำหนดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันไว้ที่ 2.50% ต่อปี และจะสิ้นสุดโครงการนี้วันที่ 31 ธ.ค. 2558
และ 3. โครงการ Port Folio Scheme เฟส 5 ซึ่งเป็นโครงการค้ำประกันเอสเอ็มอีที่ บสย.ร่วมกับสถาบันการเงิน โดยโครงการ 1 ถึง 4 ได้มีการค้ำประกันรวมกันถึง 119,000 ล้านบาท สำหรับโครงการระยะที่ 5 กำหนดวงเงินค้ำประกันไว้ที่ 240,000 ล้านบาท กำหนดสิ้นสุดโครงการปลายปีหน้า ซึ่ง SCHEM กรณีที่เกิดหนี้เสียไม่เกิน 18% บสย.จะเป็นผู้รับภาระ ส่วนที่เกิน 18% สถาบันการเงินรับภาระ โดย บสย.ค้ำประกันต่อรายสูงสุด 40 ล้านบาทต อัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันที่ 1.75% ต่อปี จนถึงปัจจุบันค้ำประกันโครงการนี้ไปแล้ว 7 หมื่นล้านบาท เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว เป้าหมายโครงการนี้ที่กำหนดปีนี้ที่ 170,000 ล้านบาทจะไม่เป็นไปตามเป้า
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *