xs
xsm
sm
md
lg

CIMBT ชี้เทรนด์ ศก.ไทยโตช้า การเมือง ปัญหาเชิงโครงสร้างถ่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สำนักวิจัยซีไอเอ็มบีไทย ลดเป้าจีดีพีโตเหลือ 1.5% ปีหน้า 3% ระบุการเมืองเป็นปัจจัยกดดันชั่วคราว แต่ที่น่าห่วงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน ทั้งหนี้ครัวเรือน ประสิทธิภาพการผลิต แรงงาน ที่ถ่วงการเติบโตจีดีพีในระยะต่อไป แนะรัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญเร่งแก้ไข

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)(CIMBT)เปิดเผยว่า สำนักวิจัยได้ปรับลดประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2557 ลงเหลือ 1.5% จากเดิมที่ 2.4% จากปัญหาการเมืองไทยที่ยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับเศรษฐกิจไทยมีปัญหาในเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือนที่สูง ปัญหาทางภาคการผลิตที่ล้าหลัง รวมถึงขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมานาน ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างชะลอตัวก่อนเกิดปัญหาทางการเมืองมาระยะหนึ่งแล้ว

ส่วนการส่งออกที่คิดว่าจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น แม้จะพอขยายตัวได้ แต่ก็เป็นไปอย่างเปราะบาง จากปัญหาทางภาคการผลิตของไทยที่เทคโนโลยียังล้าหลังไม่ตรงต่อความต้องการของประเทศคู่ค้าที่กำลังฟื้นตัว เช่น สหรัฐฯ และส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าที่หดตัวแรงกว่า ทำให้ยังประคองตัวอยู่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกจะขยายตัวได้ดีขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวได้มากขึ้น โดยสำนักวิจัยคาดการณ์ส่งออกขยายตัวที่ 3.5%

นายอมรเทพ กล่าวอีกว่า ปัญหาการเมืองเป็นปัญหาชั่วคราวที่กระทบต่อความเชื่อมั่น โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่จะเลื่อนการลงทุนออกไปก่อน แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานก็เป็นปัจจัยหลักที่กดดันอยู่ด้วย และเป็นปัญหาที่ต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น แม้ว่าปัญหาทางการเมืองจะคลี่คลายไปแล้ว แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างจะยังเป็นต้วดึงให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่เคยเป็น

สำหรับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายนั้น คาดว่าจะคงอยู่ที่ระดับ 2%ไปตลอดปีนี้ เนื่องจากแนวโน้มเงินเฟ้อขาขึ้น และเงินบาทที่อ่อนค่า โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ จากการลดวงเงิน QE และแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ในปีหน้าเศรษฐกิจจะเติบโตที่ 3% ซึ่งเป็นระดับที่ดีกว่าปีนี้ แต่ก็ยังถือว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพของไทย ดังนั้น หากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่สามารถบริหารจัดการได้ จึงควรเร่งแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างต่างๆ โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ภาคอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ ภาคการส่งออกขยายตัวได้ไม่มาก การลงทุน การค้า และการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียนจะเป็นโอกาส และทางรอดสำหรับนักลงทุนในการรับมือต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลงในปีหน้า โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV โดยอาศัย CLMV เป็นแหล่งวัตถุดิบและตลาด รวมทั้งแรงงานที่สำคัญ อีกทั้งอาศัยการเติบโตของคนชั้นกลางใน CLMV เพื่อขายสินค้าประเภท HDD/Consumer electronics ที่เดิมไทยผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น

รอความชัดเจนใช้หลังกฎอัยการศึก

กรณีการประกาศกฎอัยการศึกนั้น นายอมรเทพ กล่าวว่า ตอนนี้ยังเร็วไปที่ประเมินถึงผลกระทบจากการประกาศกฎอัยการศึกต่อเศรษฐกิจไทย คงต้องรอดูพัฒนาการก่อนจึงจะเห็นชัดเจนกว่านี้ แต่เท่าที่ดูจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 แล้วก็พบว่า เป็นสถานการณ์ที่กระทบต่อความเชื่อของผู้บริโภค นักลงทุน และนักท่องเที่ยว แต่ก็เป็นไปในระยะสั้นเท่านั้น จะเห็นได้จากจีดีพีในปี 2549-2550 เติบโตได้ดี ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีด้วย

“ก็คงต้องรอผลที่จะออกมาก่อน ในเรื่องความเชื่อมั่น หรือนักท่องเที่ยวก็คงมีผลกระทบบ้าง แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็จะกลับมา และน่าจะชดเชยส่วนลดลงไปได้ หากไม่เกิดเหตุรุนแรง อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ”


กำลังโหลดความคิดเห็น