“ซีไอเอ็มบีไทย” เปิดแผนรับมือเศรษฐกิจชะลอ ตั้งเป้าสินเชื่อโต 15-25% คาดครึ่งปีแรกสินเชื่อยังนิ่ง หันเน้นโกยรายได้ค่าฟีชดเชย ชูจุดเด่นความเชื่อมโยงทั้งภูมิภาค พร้อมจับตาหนี้เอ็นพีแอล ระบุเห็นสัญญาณเพิ่มโดยเฉพาะรายย่อย-เอสเอ็มอี คาดทั้งปีเพิ่ม 1% เป็น 3.5%
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (CIMBT)กล่าวว่า เป้าหมายในการดำเนินธุรกิจในปีนี้ ธนาคารตั้งเป้าอัตราการเติบโตของสินเชื่อ และเงินฝากในระดับเดียวกันที่ 15-25% ขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อทางการเมือง โดยเป็นระดับเติบโตที่ชะลอลงจากปีก่อนเล็กน้อย รวมทั้งตั้งเป้รารายได้ดอกเบี้ย และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโตในอัตราเดียวกันที่ 30-40% มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่ 3.2-3.5% อัตราตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ที่ 7-9% และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ 3.5% ทั้งนี้ เป้าหมายดังกล่าวประเมินจากการคาดการณ์จีดีพีเติบโต 3%
ขณะที่ผลประกอบการในปี 56 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 1.4 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าที่ 1.6 พันล้านบาท เนื่องจากในปีดังกล่าวมีกำไรเพิ่มจากรายการพิเศษ อัตราการเติบโตของสินเชื่ออยู่ที่ระดับ 23.2% จากปีก่อนหน้าที่เติบโต 16.4% ด้านเงินฝากโต 12.6% มี NIM ที่ระดับ 3.18% และ ROE ที่ 7% ส่วน NPL อยู่ที่ระดับ 2.5% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 2.8%
ทั้งนี้ ในปีนี้ธนาคารจะเน้นในด้านการหารายได้ค่าธรรมเนียม ซึ่งในปีที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างดี และสอดคล้องกับจำนวนสาขาของธนาคารที่มีจำนวน 150 แห่ง เป็นสาขาในกทม. 120 แห่ง แสดงให้เห็นว่าธุรกรรมหลักนั้นถือเป็นธนาคารของคนเมือง ดังนั้น ธนาคารจึงเน้นไปในส่วนของที่ปรึกษาทางการลงทุนทั้งในส่วนของลูกค้าบุคคลธนกิจ และระดับธุรกิจที่จะลงทุนข้ามประเทศ นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังธนาคารจะเปิดบริการด้านบัตรเครดิต โดยจะเน้นในกลุ่มพักผ่อน-ท่องเที่ยว ซึ่งตรงนี้ก็จะร่วมมือกับทางซีไอเอ็มบีกรุ๊ป เพื่อให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ถือที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น
“ในปีนี้ธนาคารคงจะเน้นในเรื่องรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย จากช่วงครึ่งปีแรกที่ความเสี่ยงยังสูงเนื่องจากปัญหาทางการเมือง ทำให้เศรษฐกิจ และสินเชื่อน่าจะทรงๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสร้างรายได้ไม่ได้ เพราะเราจะเน้นในจุดที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งด้านงานด้านบริหารเงินลงทุน วาณิชธนกิจ เทรดไฟแนนซ์ รวมทั้งการขยายธุรกิจไปยังเออีซีซึ่งเป็นจุดแข็งของธนาคารก็น่าจะเป็นช่องทางที่ขยายตัวได้ดีอยู่”
รับเห็นสัญญาณ NPL พุ่ง
ด้านเอ็นพีแอลที่ประเมินไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1% นั้น ก็เป็นส่วนของรายย่อยที่เห็นสัญญาณได้ค่อนข้างชัดเจน จากภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงมาประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอก็อาจจะทำให้รายได้ตึงตัวขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SME) ก็ต้องจับตาเช่นกัน โดยธนาคารได้ดำเนินมาตรการใน 2 ด้าน คือ การดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด และมีระบบติดตามที่รวดเร็วขึ้น พร้อมกันนั้น ก็จะดูแลเรื่องการตั้งสำรองเพียงพอรองรับต่อความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ได้สำรองเพิ่มอีก 2,700 ล้านบาท
คาดดอกเบี้ยทรงตัว
สำหรับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับเดิม 2.25% แม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ดอกเบี้ยไม่ใช่ตัวแปรหลักที่มีผลต่อการขึ้น-ลงของเศรษฐกิจ ขณะนี้เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นมากกว่า เชื่อว่าแม้ดอกเบี้ยจะต่ำก็คงไม่กระตุ้นให้มีการใช้จ่าย-ลงทุนเพิ่มมากนัก ขณะที่ทิศทางดอกเบี้ยในต่างประเทศอยู่ในขาขึ้น จึงคาดว่าดอกเบี้ยของไทยน่าจะอยู่ในภาวะทรงตัว