ซีไอเอ็มบีไทยพร้อมรุกขยายฐานเอสเอ็มอีขนาดเล็ก หลังจัดทีมเสริม ส่ง 2 ผลิตภัณฑ์นำร่อง “สินเชื่อไวจัง” และ “สินเชื่อไวจัง-เยอะจริง” ชูอนุมัติเร็วใน 7 วัน ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนในพอร์ตเป็น 15% จาก 5% ใน 3 ปี ส่วนเป้าหมายรวมทั้งปีเติบโต 22% หรือปล่อยกู้ใหม่ 10,000 ล้านบาท
นายจิรัชยุติ์ อัมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)(CIMBT) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ธนาคารมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการรุกขยายธุรกิจกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ขนาดเล็ก จากเดิมที่พอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีส่วนใหญ่เป็นลูกค้าขนาดกลางและใหญ่ โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนเอสเอ็มอีขนาดเล็กเป็น 15% จากปัจจบันที่ 5% ภายใน 3 ปี หรือมีวงเงินสินเชื่อราว 10,000 ล้านบาท จากพอร์ตรวมปัจจุบันที่ 45,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนลูกค้า 3,000 ราย
สำหรับเป้าหมายรวมสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้คาดว่าจะเติบโต 22% หรือมียอดสินเชื่อใหม่ 11,000 ล้านบาท หรือมียอดคงค้างรวม 55,000 ล้านบาท แม้ยอดรวมในช่วง 1-2 เดือนแรกจะปล่อยสินเชื่อได้ 1,200-1,300 ล้านบาท แต่ก็ยังเติบโตได้ 10% แต่ก็เชื่อว่าด้วยความพร้อมในการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ธนาคารดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
“ความจริงแล้วเราก็รุกเอสเอ็มอีทุกกลุ่ม แต่จะโฟกัสไปที่ไซส์ S มากหน่อย เพราะเป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนที่ดี ซึ่งจะสำรวจความต้องการของลูกค้าทุกไซส์ไว้ อย่างไซส์เล็ก เน้นความรวดเร็ว ไซส์กลางรุกผ่านศูนย์ธุรกิจที่มี 20 แห่งทั่วประเทศ และไซส์ใหญ่ใช้ Coperate Model เพื่อให้เข้าถึงลูกค้า ซึ่งในส่วนไซส์ S นั้นเราจัดทีมงานเพิ่มเติมขึ้นมา พร้อมทั้งเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น”
ทั้งนี้ ธนาคารได้เปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ สินเชื่อไวจัง สินเชื่อเพื่อการลงทุนและหมุนเวียนธุรกิจ เพิ่มความคล่องตัว ด้วยวงเงินหลากหลาย ผ่อนสบาย รู้ผลเร็วใน 7 วันทำการเมื่อยื่นเอกสารครบถ้วน วงเงินตั้งแต่ 300,000 - 20 ล้านบาท และสินเชื่อไวจัง...เยอะจริง สินเชื่อเพื่อการลงทุนและหมุนเวียน ด้วยวงเงินสูง 3 เท่าของมูลค่าหลักประกัน รู้ผลเร็วภายใน 7 วันทำการ อนุมัติวงเงินสูงสุด 3 เท่า โดยใช้ บสย.ค้ำประกันวงเงินส่วนที่เกินจากมูลค่าหลักประกัน ซึ่งในส่วนของ 2 ผลิตภัณฑ์นี้ตั้งเป้าวงเงินสินเชื่อ 2,000 ล้านบาทในภายปีนี้
นายจิรัชยุติ์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมของธุรกิจเอสเอ็มอีในครึ่งปีหลังนั้น น่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น จากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากการเริ่มพูดถึงการซื้อสินค้าเพิ่ม หรือการขยายธุรกิจเพิ่มบ้างแล้ว ซึ่งตรงนี้ก็จะส่งผลต่อสินเชื่อและรายได้ของธนาคารให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจได้แก่ กลุ่มเกษตร ก่อสร้างแนวราบ และท่องเที่ยว ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ในระดับต่ำกว่า 1% อันเป็นระดับที่ยังควบคุมได้ แต่เกณฑ์การพิจารณาก็ยังค่อนข้างเข้มงวดอยู่เช่นเดิม