xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ทยอยลดดอกเบี้ย จับตาวิกฤตการเงิน ตปท.ซ้ำเติม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กสิกรไทย” ปรับอัตราดอกเบี้ยลงทั้ง 2 ขา ลด MLR-MOR 0.13% ดอกฝากประจำลด 0.15-0.25% ออมทรัพย์ 0.13% ด้านซีไอเอ็มบีไทย ระบุทิศทางดอกเบี้ยยังไม่ใช่ขาลง เชื่อ กนง.จะไม่ลด ดบ.อีกหากไม่เข้าสู่วิกฤต และหากการเมืองคลี่คลาย เศรษฐกิจฟื้นเร็ว ปลายปีอาจเห็นดอกเบี้ยขึ้น พร้อมจับตาปัจจัยต่างประเทศกระทบไทย

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK)เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อตอบสนองนโยบาย กนง. ในการเพิ่มแรงสนับสนุนให้แก่ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และลดต้นทุนในการทำธุรกิจให้แก่ลูกค้าของธนาคาร โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ลง 0.13% จากเดิม 6.88% เป็น 6.75% และปรับอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) เป็น 7.40%

สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดาได้ปรับลดลง 0.13% จากเดิม 0.63% เป็น 0.50% และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง 0.15%-0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค.2557 เป็นต้นไป

CIMBT มอง ดบ.ไม่ใช่ขาลง-จับตาปัจจัย ตปท.

ด้านนายอมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่ กนง.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมานั้น สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่าจะไม่เห็นการปรับลดดอกเบี้ยอีกในปีนี้ เนื่องจากยังไม่ใช่ช่วงดอกเบี้ยขาลง ยกเว้นว่าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งมองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่วิกฤต โดยการปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งที่ผ่านมา ต้องการกระตุ้นการใช้จ่าย ลดภาระดอกเบี้ยจากปัญหาหนี้ครัวเรือนเท่านั้น นอกจากนี้ หากปัญหาการเมืองจบ เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว และมีโอกาสได้เห็นดอกเบี้ยปรับขึ้นได้ในช่วงปลายปี

“หากเทียบการปรับลดดอกเบี้ยในอดีต ทาง กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพียง 0.50% คือช่วงน้ำท่วมปลายปี 2554 ช่วงมีปัญหาการส่งออกตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวปลายปี 2555 และล่าสุด เมื่อเศรษฐกิจไทยชะลอตัวพร้อมมีความเสี่ยงจากการเมืองปลายปี 2556 แต่หากเป็นความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากการชะลอตัวอย่างรุนแรง ทาง กนง. จะลดดอกเบี้ยมากกว่านั้นมาก เช่นช่วงปี 2550 และ 2551 คำถามคือ ความเสี่ยงในการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจีนมีสูงแต่ทาง กนง.จะมีกระสุนพอหรือไม่”

ด้วยเหตุนี้ ทางสำนักวิจัยจึงคาดว่าทาง กนง. อาจจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยอีก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศจากปัญหาการชะลอตัวด้วยปัจจัยทางการเมือง แต่จะเก็บมาตรการทางการเงินไว้เพื่อรับมือวิกฤตการเงินจากภาคต่างประเทศ ที่นับว่ามีความเสี่ยงสูงสำหรับเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน หรือวิกฤตตลาดเกิดใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งหลังมีการปรับลดมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ที่มากกว่าเดิม อีกทั้งหากสหรัฐฯ หยุดมาตรการ QE นักลงทุนต่างชาติจะตั้งคำถามว่า ทางสหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเงินไหลออกที่มากขึ้น อันจะกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยได้ และหากเป็นเช่นนั้นทาง กนง. อาจต้องกลับมาปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น