xs
xsm
sm
md
lg

SCB นำร่องลดดอกเบี้ย คาดแนวโน้ม กนง.ปรับลงอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ไทยพาณิชย์” สนอง กนง.นำร่องลดดอกเบี้ย MLR-MRR ลง 0.125% ฝากประจำลง 0.10% ออมทรัพย์ลง 0.125% “บัวหลวง” ชี้หากการเมืองยังยืดเยื้อมีโอกาสลงอีก ด้าน “ซีไอเอ็มบีไทย” ระบุช่วยกระตุ้นใช้จ่าย ลุ้นแบงก์ลดตามจากสภาพคล่องที่สูงขึ้น หลังสินเชื่อชะลอ ด้าน EIC คาดภาพรวมยังอ่อนแอ ดอกเบี้ยแตะ 1.75% ในครึ่งปีแรก

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ และเป็นการสนับสนุนร วมทั้งลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการ และลูกค้าในการทำธุรกิจ และตอบสนองนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารจึงได้พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลง 0.125% ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ลง 0.125% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ลดลง 0.10 % และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดา ลดลง 0.125%

ชี้การเมืองยื้อมีสิทธิลดอีก

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL)กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลงจาก 2.25% เหลือ 2.00% ในครั้งนี้ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจใน 2 ด้าน คือ เป็นผลทางด้านจิตวิทยา และการลดลงของต้นทุนด้านดอกเบี้ย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับธนาคารพาณิชย์จะปรับลดดอกเบี้ยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ธนาคารก็ยังคงการประมาณจีดีพีไว้ที่ประมาณ 3% ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับที่หลายๆ ฝ่ายมองไว้ เพราะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% นั้นถือว่าน้อย การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยที่เห็นผลจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามต่อไป

“การคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยท่ามกลางปัจจัยเหล่านี้เราไม่ควรมองแค่ว่า ครั้งนี้ดอกเบี้ยจะขึ้นหรือลง แต่ควรจะมองไปในระยะยาวว่า หากสถานการณ์การเมืองยังคงเป็นอย่างนี้ โอกาสที่เป็นดอกเบี้ยขาขึ้นคงยาก ก็คงเหลือแต่คงหรือลด ซึ่งก็คาดการณ์ได้ยาก คราวนี้มติคณะกรรมการ กนง. 4 ต่อ 3 ลดดอกเบี้ย จากคราวที่แล้วคงดอกเบี้ยมติ 4 ต่อ 3 ก็คือ มีกรรมการเปลี่ยนใจคนเดียวผลก็เปลี่ยนได้แล้ว ดังนั้น จึงควรดูแนวโน้มในระยะยาวมากกว่า”

แบงก์ลดตาม-กระตุ้นใช้จ่าย

นายอมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัย เศรษฐกิจและตลาดการเงิน สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจมีสัญญาณชัดเจนมาก่อนปัญหาทางการเมืองจะเข้า มีสาเหตุมาจากโครงสร้างของเศรษฐกิจเองที่มีการบริโภคสูง หนี้ครัวเรือนสูง ซึ่งเชื่อว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้จะช่วยลดภาระด้านดอกเบี้ยของหนี้ครัวเรือน ทำให้มีการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ขณะที่แนวโน้มเงินเฟ้อที่อาจจะเร่งตัวขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นนั้น ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อไป แต่เงินเฟ้อปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ต่ำ และสถานการณ์ในตะวันออกกลางเองก็ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก

“การลดดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นไปตามที่เราคาด ผมว่าไม่เสียเปล่า เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากการเมืองล้วนๆ แต่อุปโภคบริโภคเราชะลอมาก่อนระยะหนึ่งแล้ว การลดภาระหนี้ครัวที่สูงก็จะทำให้เขามีเงินออกมาใช้สอยมากขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับแบงก์พาณิชย์ว่าจะลดดอกเบี้ยตามหรือไม่ ซึ่งก็น่าจะลดเพราะทิศทางสินเชื่อชะลอตัว เงินฝากบางส่วนอาจจะกลับเข้ามาหลังตลาดผันผวน สภาพคล่องก็สูงขึ้น ก็จะเอื้อต่อการลดดอกเบี้ยของแบงก์พาณิชย์ได้”

SCB คาดดบ.แตะ 1.75% ในครึ่งปีแรก

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) คาดทิศทางดอกเบี้ยในระยะต่อไปนั้น ขณะนี้ยังคงเร็วไปที่ประเมิน คงต้องรอให้ตัวเลขเศรษฐกิจช่วงไตรมาสแรกออกมาก่อน แต่จากปัจจัยอื่นๆ ที่ยังต้องตามดู เช่น ทิศทางเงินทุนไหลเข้า-ออก หรืออัตราการเร่งในการลดวงเงิน QE ก็อาจทำให้ทาง กนง.มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปีได้ ดังนั้น อีไอซี คงมุมมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงไปอยู่ที่ 1.75% ภายในครึ่งปีแรก แม้การส่งออกจะเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป แต่การขาดแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งจากการบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญกว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ และเงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะนี้ ดังนั้น กนง. มีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำไม่เพียงจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภค และการลงทุนในระยะข้างหน้าเท่านั้น แต่ยังช่วยลดภาระทางการเงินของครัวเรือน และธุรกิจได้บางส่วนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น