xs
xsm
sm
md
lg

“ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้” บุกตลาดต่างประเทศกระจายความเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้” เดินหน้าบุกตลาดต่างประเทศ ลดความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองในประเทศ ส่งผลกระทบเศรษฐกิจชะลอ ผู้บริหารเผยอยู่ระหว่างศึกษาหาพันธมิตรใหม่ในเอกวาดอร์ ผนึกเอกชนรายใหญ่ในจีนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าป้อนรัฐบาลจีน คาดได้ข้อสรุปภายใน 6-9 เดือน มั่นใจหากปิดดีลดันรายได้กระฉูดในปี 58 ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/57 กำไรสุทธิ 36.70 ล้านบาท

นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาแผนร่วมลงทุนกับพันธมิตรในประเทศเอกวาดอร์ เพื่อสร้างโรงงานที่จะเป็นฐานการผลิตอะไหล่ชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศเอกวาดอร์ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 9 เดือน เพื่อขยายฐานลูกค้าในประเทศเอกวาดอร์ เปรู โคลัมเบีย ชิลี  และโบลิเวีย ซึ่งถือเป็นการกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกัน ยังสามารถประหยัดต้นทุนการนำเข้าได้ถึง 40% ทำให้มีความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยหากเจรจาร่วมทุนกับพันธมิตรในเอกวาดอร์ได้สำเร็จ  สัดส่วนการถือหุ้นของ FPI คาดว่าจะอยู่ที่ 45-50% โดยจะมีการลงทุนเครื่องจักร และแม่พิมพ์ในปีแรกประมาณ 12 ตัว เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.2 ล้านดอลลาร์

“การขยายตลาดไปต่างประเทศจำเป็นต้องมีพันธมิตร เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูง และการที่เราร่วมทุนกับพันธมิตรในเอกวาดอร์จะช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง (ลอจิสติกส์) ถึง 15% และประหยัดต้นทุนนำเข้าถึง 40%  เนื่องจากการขนส่ง และภาษีนำเข้าค่อนข้างสูง ซึ่งหากมีการสร้างฐานการผลิตจะทำให้ช่วยลดต้นทุนได้ค่อนข้างมากถึง 55%” นายสมพล กล่าว

นายสมพล กล่าวว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ FPI ได้ลงทุนแม่พิมพ์ชิ้นส่วนรถยนต์จากค่ายญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลัก ทั้งนี้ หากมีออเดอร์ใหม่เข้ามาจากสหรัฐอเมริกา จะต้องมีการลงทุนเพิ่มในส่วนของแม่พิมพ์ โดยใช้เงินส่วนหนึ่งจากการออกหุ้นกู้แปลงสภาพ จำนวน 250 ล้านบาท ซึ่งในช่วงแรกจะดำเนินการในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเป็นตลาดใหม่ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง
 
นอกจากนี้ บริษัทยังได้วางแผนขยายตลาดสู่กลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หลังจากก่อนหน้านี้ ได้ลงทุนในส่วนของสำนักงานใหม่ เพื่อรองรับบุคลากรในการขยายตลาด รวมทั้งจะมุ่งเน้นทำธุรกิจซื้อมาขายไป (Trading) อื่นๆ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ (Engine Part) โดยจะมีการหาพันธมิตรใหม่ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อเพิ่มยอดขาย ซึ่งจะทำให้รายได้ และกำไรของบริษัทขยายตัวต่อไปในอนาคต  ขณะเดียวกัน ในปีนี้หาก warehouse แล้วเสร็จตามกำหนดในไตรมาส 3 จะตามแผนจะช่วยให้เดินเครื่องจักรได้อย่างเต็มที่โดยคาดว่าอัตรากำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 90%

ด้านนางนุศรา ธนาดำรงศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวถึงแผนการดำเนินงานของบริษัทในปี 57  หาก warehouse แล้วเสร็จตามกำหนดในไตรมาส 3/57 ตามแผนจะช่วยให้เดินเครื่องจักรได้อย่างเต็มที่ โดยคาดว่าอัตรากำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 90% ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง 10% และสามารถทำให้กำไรเพิ่มขึ้น

บริษัทตั้งเป้ารายได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะเดียวกัน ยังเชื่อมั่นว่าหากบริษัทมีการลงทุนแม่พิมพ์ใหม่ๆ ก็จะทำให้รายได้เติบโตเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการขยายฐานลูกค้าในยุโรป และอเมริกา ปัจจุบัน บริษัทมีออเดอร์ในมือในส่วนของการรับงานโปรเจกต์ให้แก่ค่ายรถยนต์ (OEM) ประมาณ 300-400 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการรับงานที่สูงสุดของบริษัท และส่วนการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อะไหล่ทดแทน (REM) มีประมาณ 150 ล้านบาท/เดือน โดยในปีนี้บริษัทสามารถเพิ่มลูกค้าใหม่ได้อีก 3 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 121 ประเทศ

นอกจากนั้น บริษัทยังตั้งเป้ารายได้เติบโต 15% ภายใน  3 ปี หากมีการใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ขณะที่รายได้หลังหักต้นทุน (Gross Margin) ในปีนี้น่าจะสูงขึ้นตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งคาดว่าค่าเฉลี่ยเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 32-33 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งทำให้โอกาสเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% ส่วนกำไรสุทธิหลังหักภาษี (NET Margin) คาดว่าจะเติบโต 3-5%
กำลังโหลดความคิดเห็น