ผู้ถือหุ้น “ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้” ไฟเขียวจ่ายเงินปันผลปี 56 เพิ่มอีก 0.10 บาท รับเงิน 29 เม.ย.นี้ รวมทั้งปีรับทรัพย์จากเงินปันผล 0.30 บาท/หุ้น “สมพล ธนาดำรงศักดิ์” มั่นใจปี 57 ไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง หลังบุกตลาดสหรัฐอเมริกา คาดดันมาร์เก็ตแชร์เพิ่ม กำไรพุ่งตาม เผยขณะนี้เริ่มมีออเดอร์เข้ามาแล้ว เล็งขยายตลาดอาเซียนรองรับเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) (FPI) เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติจัดสรรเงินสำรองตามกฎหมายเป็นจำนวน 9,562,293.43 บาท เงินปันผลประจำปี 2556 เพิ่มอีกเป็นจำนวนหุ้นละ 0.10 บาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท ซึ่งถือหุ้นรวมจำนวนทั้งสิ้น 295,000,000 หุ้น คิดเป็นเงินปันผลจ่าย 29,500,000 บาท เมื่อรวมกับเงินปันผลระหว่างกาลที่บริษัทจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นแล้ว จำนวนหุ้นละ 0.20 บาท
สำหรับผลประกอบการของบริษัทงวด 9 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2556 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 6/2556 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 จะรวมเป็นเงินปันผลจ่ายในปี 2556 ทั้งสิ้น จำนวนหุ้นละ 0.30 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 88,498,000 บาท ซึ่งเป็นเงินเกินกว่า 54% ของกำไรสุทธิ หลังหักภาษีเงินได้ตามงบการเงินของบริษัทฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556
ทั้งนี้ ให้กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 4 มีนาคม 2557 และให้รวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้นตามมาตรา 225 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยวิธีการปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น ในวันที่ 5 มีนาคม 2557 และกำหนดการจ่ายเงินปันผลภายในวันที่ 29 เมษายน 2557 ส่วนผลการดำเนินงานของ FPI ในปี 2556 มีกำไรสุทธิ 163.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2555 มีกำไรสุทธิ 159.03 ล้านบาท
นายสมพล กล่าวถึงแผนการดำเนินงานในปี 2557 ว่า จะมุ่งเน้นขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และกำไรขั้นต้นสูง ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลกำไรบริษัทมากขึ้น โดยขณะนี้เริ่มมีออเดอร์เข้ามาบ้างแล้วจากบรรดาบริษัทชั้นนำ
“สหรัฐอเมริกาจะเป็นตลาดส่งออกใหม่ที่มีศักยภาพของเรา ซึ่งมีขนาดใหญ่มากกว่าไทยถึง 5 เท่า จะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งตลาด (มาร์เกตแชร์) และกำไรมากขึ้น ขณะเดียวกัน ในช่วงก่อนหน้านี้ยังได้ลงทุนแม่พิมพ์ชิ้นส่วนรถยนต์จากค่ายญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลัก ทั้งนี้ หากมีออเดอร์ใหม่เข้ามาจากสหรัฐอเมริกา จะต้องมีการลงทุนเพิ่มในส่วนของแม่พิมพ์ โดยใช้เงินส่วนหนึ่งจากการออกหุ้นกู้แปลงสภาพ จำนวน 250 ล้านบาท ซึ่งในช่วงแรกจะดำเนินการในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเป็นตลาดใหม่ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง” นายสมพลกล่าวในที่สุด
นอกจากนี้ บริษัทยังได้วางแผนตลาดสู่กลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หลังจากก่อนหน้านี้ ได้ลงทุนสำนักงานใหม่เพื่อรองรับบุคลากรใหม่ๆ ในการขยายตลาด รวมทั้งจะมุ่งเน้นทำธุรกิจซื้อมาขายไป (Trading) อื่นๆ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ (Engine Part) โดยจะมีการหาพันธมิตรใหม่ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อเพิ่มยอดขาย ซึ่งจะทำให้รายได้ และกำไรของบริษัทขยายตัวต่อไปในอนาคต