เอเอฟพี - โตโยต้าแถลงวันนี้ (17 มี.ค.) ว่าได้ระงับการผลิตที่โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สองแห่งในอินเดียเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นกับฝ่ายบริหาร และเพื่อตอบโต้การนัดหยุดงานประท้วงของแรงงานในสายประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ ในเวลาที่ทางบริษัท และสหภาพแรงงานไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการจ้างงานกันได้
ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลกเจ้านี้ระบุว่า จะห้ามไม่ให้คนงานราว 6,400 คนเข้าไปในโรงงานสองแห่งทางตอนใต้ของอินเดีย
ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของบริษัทและสหภาพแรงงานได้พยายามเจรจาหาทางบรรลุข้อตกลงในสัญญาจ้างงานฉบับใหม่ ซึ่งมุ่งเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่แรงงาน โดยมีรัฐบาลท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย
โตโยต้าระบุในคำแถลงว่า “ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ลูกจ้างบางแผนกที่ถูกสหภาพแรงงานคอยปลุกปั่นยุยง ได้หันไปนัดกันหยุดงานในสายการผลิต รวมทั้งนินทาว่าร้าย และข่มขู่หัวหน้างาน จนทำให้ธุรกิจต้องประสบสภาวะชุลมุนวุ่นวายไม่หยุดไม่หย่อน ในช่วง 25 วันที่ผ่านมา”
“เราได้ขัดขวางการกระทำผิดกฎหมายทั้งหมดนี้ ด้วยการประกาศเตือนไม่ให้คนงานเข้าโรงงาน เนื่องจากทางบริษัทไม่มีทางเลือกอื่นแล้วในสถานการณ์เช่นนี้ จึงต้องประกาศห้ามไม่ให้คนงานเข้ามาในอาณาบริเวณของโรงงาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคนงาน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารจะได้รับความปลอดภัย” คำแถลงระบุเพิ่มเติม
นอกจากนี้ โฆษกของบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงโตเกียวแห่งนี้กล่าวว่า โตโยต้ามีความคาดหวังที่จะกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้งเร็วๆ นี้ แต่ยังไม่สามารถระบุวันเวลาที่แน่ชัด ที่จะกลับมาเปิดโรงงานซึ่งเป็นสถานที่ผลิตรถยนต์หลากหลายรุ่นไม่ว่าจะเป็น คัมรี ซีดาน โคโรลา และพรีอุส ไฮบริด
โตโยต้าระบุว่า โรงงานทั้งสองแห่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมืองบังกาลอร์ผลิตรถยนต์ออกมาราว 310,000 คัน ในแต่ละปี
ทั้งนี้ ความขัดแย้งเมื่อล่าสุดได้ปะทุขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่นกำลังพยายามเจริญสายสัมพันธ์กับอินเดียเพื่อคานอำนาจจีน ที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปในภูมิภาคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
โฆษกของโตโยต้าระบุว่า ยังไม่ได้รับรายงานว่า มีผู้จัดการหรือพนักงานของโรงงาน 2 แห่งซึ่งถูกสั่งปิด ถูกทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ ในปีเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น ได้เดินทางเยือนกรุงนิวเดลี เพื่อผลักดันสายสัมพันธ์ทางการค้าและทางยุทธศาสตร์กับอินเดีย ในเวลาที่โตเกียวพยายามจะถ่วงดุลอำนาจจีน ที่แผ่อำนาจเข้ามาในภูมิภาคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในอินเดีย ซึ่ง ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ได้ทุ่มเงินทุนราว 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งยังมีส่วนร่วมในโครงการ “เดลี-มุมไบ คอร์ริดอร์” เมกะโปรเจกต์มูลค่า 9 หมื่นล้านดอลลาร์ของรัฐบาลแดนภารตะ ที่มุุ่งเชื่อมโยงเมืองหลวงของอินเดียเข้ากับเมืองที่เป็นจุดศูนย์กลางทางการเงิน