เอเอฟพี - สหภาพแรงงานของโรงงานผลิตส่วนประกอบรถยนต์โตโยต้า ทางตอนใต้ของอินเดียระบุว่า บรรดาลูกจ้างของโรงงานนี้ยังคงไม่ยอมกลับเข้าทำงานในวันนี้ (24 มี.ค.) ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการประกาศระงับการผลิตนานหนึ่งสัปดาห์ ภายหลังที่กิจการยนตกรรมเจ้านี้ปฏิเสธที่จะร่วมลงนามในสัญญาการจ้างงาน
ประธานสหภาพแรงงานในอินเดียระบุว่า แม้ว่าลูกจ้างราว 500 คนจะมารวมตัวกันด้านนอกโรงงานทั้งสองแห่ง ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองบังกาลอร์ ในวันแรกของการทำงาน ทว่า พวกเขาก็ยังไม่กลับมาเข้าทำงาน ภายหลังที่เหล่าผู้จัดการออกมาย้ำ ให้พวกเขาลงนามในสัญญาว่าจะประพฤติตัวให้เหมาะสมก่อนกลับไปทำงานอีกครั้ง
“เนื่องจากเราคัดค้านการตกปากรับคำ หรือลงนามในข้อผูกพันใดๆ ก็ตาม เราทุกคนจึงไม่เข้าโรงงานเพื่อทำงานกะแรก ซึ่งเริ่มต้นในเวลา 06.00 น.” ปราสันนา กุมาร ประธานสหภาพ โตโยต้า กีร์ลอสการ์ มอเตอร์ จำกัด กล่าวกับเอเอฟพี
“ข้อผูกพันพวกนี้ขัดต่อสิทธิแรงงานของพวกเรา เรามีสิทธิปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีใครลิดรอนสวัสดิการของเรา”
ทั้งนี้ มีความคาดหวังกันว่า โรงงานแห่งนี้จะกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้ง ภายหลังที่โตโยต้าประกาศเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วว่าได้ตัดสินใจยกเลิกคำประกาศห้ามคนงานสายผลิตเข้าโรงงาน ภายหลังที่กิจการนี้ได้เจรจาหารือกับสหภาพแรงงาน โดยมีรัฐบาลท้องถิ่นเป็นประธานและผู้ไกล่เกลี่ย
อย่างไรก็ตาม สหภาพระบุว่าการเรียกร้องให้ลูกจ้างเซ็นชื่อยอมรับเงื่อนไข ที่กำหนดว่าจะต้องปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมก่อนกลับไปเริ่มงานอีกครั้งเป็นการกระทำที่ “เกินทน” และยังเรียกร้องให้โตโยต้ายุติคำสั่งพักงานแรงงาน 17 คน
บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกเจ้านี้ได้สั่งระงับการผลิตในโรงงานทั้งสองแห่ง เมื่อวันจันทร์ที่แล้ว (17) ภายหลังที่มีความพยายามบรรลุข้อตกลงฉบับใหม่ ซึ่งมุ่งเพิ่มค่าตอบแทนให้ลูกจ้างต้องประสบกับความล้มเหลว
โตโยต้าระบุว่า ลูกจ้างบางส่วนได้นัดกันหยุดงานในส่วนของสายการผลิต ตลอดจนว่าร้ายและข่มขู่หัวหน้างาน ทั้งยังสร้างความชุลมุนวุ่นวายให้แก่ธุรกิจนานหลายสัปดาห์อย่างไม่หยุดไม่หย่อน
ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของบริษัท และสหภาพแรงงานได้พยายามหาทางบรรลุข้อตกลงในสัญญาฉบับใหม่ โดยมีรัฐบาลท้องถิ่นช่วยทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย
สหภาพแรงงานโตโยต้า กีร์ลอสการ์ มอเตอร์ จำกัด ได้เรียกร้องให้บริษัทขึ้นค่าตอบแทนให้พนักงานอย่างน้อย 4,000 รูปี (ราว 2,138 บาท) ต่อเดือน ขณะที่ทางบริษัทยอมจ่ายเพียง 3,050 รูปี (ราว 1,630 บาท) เท่านั้น โดยอ้างว่าตลาดกำลังอยู่ในสภาวะฝืดเคือง โดยยอดขายรถยนต์ในอินเดียดิ่งลงเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม กุมารกล่าวว่าสหภาพได้ขอให้รัฐบาลท้องถิ่น “สั่งให้บริษัทยกเลิกการประกาศระงับการผลิต โดยไม่มีเงื่อนไข” พร้อมทั้งระบุว่า การสั่งปิดโรงงานเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า 2 สัปดาห์ตามที่กฎหมายระบุ
ทั้งนี้ โรงงานทั้งสองแห่งว่าจ้างแรงงานราว 6,400 คน โดยในแต่ละปีจะผลิตรถยนต์รุ่นต่างๆ ออกมาราว 310,000 คัน เป็นต้นว่า คัมรี ซีดาน โคโรลา และพรีอุสไฮบริด ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศ