ก.อุตฯ ตั้งทีมตรวจสอบเหล็กไม่ได้มาตรฐาน ส่งสัญญาณออกตรวจ 176 รง.เหล็ก หลังพบอาคารของรัฐและเอกชนถล่มและพบส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้เหล็กไม่ได้มาตรฐาน “มอก.” โต้ DSI ที่ระบุมีโรงงานเหล็กมีแค่ 20 แห่งที่ได้มาตรฐานเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีที่ขณะนี้พบปัญหาอาคารก่อสร้างหลายแห่งทั้งรัฐและเอกชนถล่มลงมาและพบว่ามีการใช้เหล็กไม่ได้มาตรฐาน จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและกำกับดูแลการผลิตและนำเข้าเหล็กรูปพรรณชนิดต่างๆ ที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมการก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยมีนายศักดิ์ดา พันธ์กล้า รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและกำกับดูแลการใช้กฎหมาย รวมทั้งตรวจสอบกิจการ การประกอบกิจการในพื้นที่ที่มีเหตุเชื่อว่าไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เหล็กทุกประเภท
“การตั้งคณะทำงานชุดนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณไปยังโรงงานผลิตเหล็กก่อสร้างทั้ง 176 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างทั่วประเทศ ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมเข้มงวดกวดขันและเอาจริงในเรื่องนี้ ส่วนกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อยู่ระหว่างตรวจสอบกรณีการผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐาน กระทรวงฯ ยินดีจะให้ความร่วมมือในการส่งบุคลากรทั้งด้านเทคนิคและวิชาการเข้าร่วมตรวจสอบทุกพื้นที่” นายวิฑูรย์กล่าว
นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดี กรอ. กล่าวว่า กรณีที่ดีเอสไอระบุว่าปัจจุบันมีโรงงานผลิตเหล็กที่ได้มาตรฐานเพียง 20 แห่งจากทั้งหมด 173 แห่งนั้นมองว่าเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะการผลิตเหล็กปัจจุบันมีหลายประเภท เช่นเหล็กเส้นกลม เหล็กข้ออ้อย ไม่สามารถใช้มาตรฐานเดียวไปวัดเหล็กทุกประเภทได้
อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ได้เตรียมที่จะนำกฎหมาย 2 ฉบับมาใช้คุมเข้มการผลิตเหล็กมากขึ้น คือ กฎหมาย สมอ.ที่ปัจจุบันใช้ควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอยู่แล้ว และกฎหมายโรงงานอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันในการออกใบอนุญาตประกอบการโรงงาน (รง.4) ให้แก่โรงงานผลิตเหล็กนั้นจะไม่ได้ระบุในเงื่อนไขว่าโรงงานต้องผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน มอก. แต่กำหนดเพียงเงื่อนไขด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมเนื่องจากเห็นว่ามีกฎหมาย สมอ.ดูแลเรื่องมาตรฐานอยู่แล้ว
ทั้งนี้ เมื่อต้องนำกฎหมาย 2 ฉบับมาร่วมกันควบคุมโรงงานผลิตเหล็ก กรอ.จะต้องเรียกให้โรงงานที่ได้รับใบอนุญาตทั้งหมดกลับมากำหนดเงื่อนไขในใบอนุญาตใหม่ว่าต้องผลิตเหล็กที่ได้ มอก. และจะกำหนดเงื่อนไขสำหรับผู้ขออนุญาตรายใหม่ด้วย ทำให้ต่อไปนี้ผู้ผลิตเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานจะถูกลงโทษทั้งตามกฎหมาย สมอ. และหากร้ายแรงก็ใช้อำนาจตามกฎหมายโรงงานอุตสาหกรรมสั่งปิดโรงงานได้