“ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้” เดินหน้าบุกตลาดต่างประเทศ หวังผลักดันรายได้ ลดความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองในประเทศ เศรษฐกิจชะลอ เผยสหรัฐฯ เริ่มมีออเดอร์เข้ามาแล้ว คาดช่วยหนุนรายได้-กำไร ปีนี้ขยายตัว 15% ตามเป้า ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/57 กำไรสุทธิ 36.70 ล้านบาท ส่วน Warehouse คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส 3 แง้มข่าวดี! อยู่ระหว่างศึกษาหาพันธมิตรใหม่ในเอกวาดอร์ ผนึกเอกชนรายใหญ่ในจีนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าป้อนรัฐบาลจีน คาดได้ข้อสรุปภายใน 6-9 เดือน มั่นใจหากปิดดีลดันรายได้ปี 58 พุ่ง
นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือFPI เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ของปี 57 บริษัทมีรายได้รวม 366.32 ล้านบาท กำไรสุทธิ 36.70 ล้านบาท กำไร 0.12 บาท/หุ้น แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะชะลอตัวจากปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และหมดแรงส่งจากโครงการรถยนต์คันแรก
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 57 บริษัทยังคงมุ่งเน้นขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และกำไรขั้นต้นสูง ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลกำไรบริษัทมากขึ้น โดยขณะนี้เริ่มมีออเดอร์เข้ามาบ้างแล้วจากบรรดาบริษัทชั้นนำ
นายสมพล กล่าวว่า ช่วงก่อนหน้านี้ FPI ได้ลงทุนแม่พิมพ์ชิ้นส่วนรถยนต์จากค่ายญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลัก ทั้งนี้ หากมีออเดอร์ใหม่เข้ามาจากสหรัฐอเมริกา จะต้องมีการลงทุนเพิ่มในส่วนของแม่พิมพ์ โดยใช้เงินส่วนหนึ่งจากการออกหุ้นกู้แปลงสภาพ จำนวน 250 ล้านบาท ซึ่งในช่วงแรกจะดำเนินการในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเป็นตลาดใหม่ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง
นอกจากนี้ บริษัทยังได้วางแผนขยายตลาดสู่กลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หลังจากก่อนหน้านี้ ได้ลงทุนในส่วนของสำนักงานใหม่ เพื่อรองรับบุคลากรในการขยายตลาด รวมทั้งจะมุ่งเน้นทำธุรกิจซื้อมาขายไป (Trading) อื่นๆ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ (Engine Part) โดยจะมีการหาพันธมิตรใหม่ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อเพิ่มยอดขาย ซึ่งจะทำให้รายได้ และกำไรของบริษัทขยายตัวต่อไปในอนาคต ขณะเดียวกัน ในปีนี้ หาก warehouse แล้วเสร็จตามกำหนดในไตรมาส 3 จะตามแผนจะช่วยให้เดินเครื่องจักรได้อย่างเต็มที่โดยคาดว่าอัตรากำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 90%
“ในปีนี้เราตั้งเป้าหมายรายได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเชื่อมั่นว่าหากบริษัทมีการลงทุนแม่พิมพ์ใหม่ๆ ก็จะทำให้รายได้เติบโตเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการขยายฐานลูกค้าในยุโรป และอเมริกา” นายสมพลกล่าว
โดยปัจจุบัน บริษัทมีออเดอร์ในมือในส่วนของการรับงานโปรเจกต์ให้แก่ค่ายรถยนต์ (OEM) ประมาณ 300-400 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการรับงานที่สูงสุดของบริษัท และส่วนการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อะไหล่ทดแทน (REM) มีประมาณ 150 ล้านบาท/เดือน โดยในปีนี้บริษัทสามารถเพิ่มลูกค้าใหม่ได้อีก 3 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 121 ประเทศ
นายสมพล กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาแผนร่วมลงทุนกับพันธมิตรในประเทศเอกวาดอร์ เพื่อผลิตอะไหล่ทดแทนโดยจะมีฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศเอกวาดอร์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 9 เดือน เพื่อขยายฐานลูกค้าในประเทศเปรู โคลัมเบีย โบลิเวีย ชิลี และเอกวาดอร์ ซึ่งถือเป็นการกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ
นอกจากนี้ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทได้เดินทางไปยังดูงานบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ผู้วิจัยและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของจีน เพื่อศึกษาความได้ในการร่วมลงทุนผลิตรถไฟฟ้าป้อนให้แก่รัฐบาลจีน ซึ่งขณะนี้มีการส่งเสริมใช้รถไฟฟ้าเพื่อลดปัญหามลพิษ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 6 เดือนหลังจากนี้ และเริ่มลงมือผลิตในช่วงต้นปี 58 ซึ่งจะช่วยผลักดันรายได้ ซึ่งจะทำให้บริษัทกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร