xs
xsm
sm
md
lg

“ฟิทช์ฯ” ขู่หั่นเรตติ้งไทย หากวิกฤตการเมืองยืดเยื้อถึงครึ่งปีหลัง ชี้ส่งผลลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ฟิทช์ฯ” ขู่หั่นเรตติ้งไทยหากวิกฤตการเมืองยืดเยื้อถึงครึ่งปีหลัง ชี้อาจส่งผลลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ ขณะที่มีการคาดการณ์กันว่า อุปสงค์ภายในประเทศจะอยู่ในภาวะอ่อนแอในปีนี้ ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของจีดีพีที่แท้จริงของไทยอยู่ที่ 2.5%

ฟิทช์ เรทติ้งส์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากภาวะชะงักงันทางการเมืองในไทยที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จะส่งผลลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ และมีแนวโน้มที่จะทำให้ฟิทช์ทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของไทย โดยแถลงการณ์นี้สอดคล้องกับสัญญาณชี้นำที่ฟิทช์เคยระบุไว้ในการทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในเดือน มี.ค.

ขณะที่มีการคาดการณ์กันว่า อุปสงค์ภายในประเทศจะอยู่ในภาวะอ่อนแอในปีนี้ ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของจีดีพีที่แท้จริงของไทยอยู่ที่ 2.5% โดยแรงถ่วงทางเศรษฐกิจที่เกิดจากภาวะไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนาน จะส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของไทยร่วงลงสู่ระดับต่ำกว่าอัตราการเติบโตของประเทศอื่นๆ ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือขั้น BBB เหมือนกัน และจะเป็นการสร้างแรงกดดันในเชิงลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ

ทั้งนี้ มองว่าความเสี่ยงทางการเมืองทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ในวันที่ 7 พ.ค.ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และรัฐมนตรี 9 คน สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี และหยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ในการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี และเมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติในวันที่ 8 พ.ค.ให้ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในโครงการจำนำข้าว ขณะที่ฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมีกำหนดจัดการชุมนุมขึ้น โดยคำตัดสินของศาลมีแนวโน้มที่จะเป็นจุดสนใจสำคัญสำหรับกลุ่มผู้ชุมนุมสนับสนุนรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากการเลือกตั้งที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 20 ก.ค.ถูกเลื่อนออกไป หรือถูกยกเลิก ก็มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้นที่ไทยจะไม่มีรัฐบาลที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ และสถานการณ์เช่นนี้อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเมืองระดับพื้นฐานของไทย

โดยภาวะไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานอาจส่งผลกระทบในทางลบในวงกว้างต่อพื้นฐานความน่าเชื่อถือของไทย จากที่เคยประเมินว่าศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอาจลดลงสู่ระดับราว 3% ในการทบทวนอันดับในเดือน มี.ค. ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำมากสำหรับประเทศที่มีรายได้เท่ากับไทย โดยสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับความล่าช้าอย่างต่อเนื่องในการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ และปัจจัยนี้จะส่งผลให้ไทยไม่สามารถหลุด ออกจากดุลยภาพ “กับดักรายได้ปานกลาง” ที่มีการลงทุนต่ำ ซึ่งเป็นภาวะที่ไทยเผชิญอยู่นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินเอเชียในปี 2540 เป็นต้นมา
กำลังโหลดความคิดเห็น