xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกตีข่าว “ศาล รธน.” พิพากษา “ยิ่งลักษณ์” พ้นสภาพนายกฯ ฐานใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้ “เพรียวพันธ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - สื่อนอก เป็นต้นว่า รอยเตอร์ บีบีซีนิวส์ เอพี เอเอฟพี ต่างหันมาจับจ้องความเคลื่อนไหวของการเมืองไทยวันนี้ (7 พ.ค.) ในเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากสถานภาพนายกรัฐมนตรี ในความผิดฐานละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยต่างบอกว่า ประเทศกำลังตกอยู่ในสภาวะสับสนอลหม่านทางการเมือง แม้ว่าบรรดารัฐมนตรีที่ไม่มีส่วนพัวพันในคดีจะยังสามารถรักษาการในตำแหน่งตามเดิม

รอยเตอร์ชี้ว่า แม้ว่าคำพิพากษาในวันนี้ (7) อาจทำให้ฝ่ายผู้สนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ พากันโกรธแค้น แต่การที่พรรคของเธอยังเป็นรัฐบาลรักษาการก็อาจช่วยบรรเทาบรรยากาศอันร้อนระอุในการประท้วงของกลุ่ม นปช. ทีนัดชุมนุมกันสุดสัปดาห์นี้ และอาจช่วยลดการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ประท้วงฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลลงได้บ้าง

ในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องเผชิญกับการประท้วงอย่างรุนแรงในกรุงเทพฯ ซึ่งมุ่งโค่นอำนาจรัฐบาล เนื่องจากผู้ประท้วงฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไม่สามารถบรรลุเป้าหมายด้วยการจัดการประท้วงบนท้องถนน จึงหันไปพึ่งกระบวนการทางกฎหมาย

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้อ่านคำวินิจัยชี้ว่า เมื่อปี 2011 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ใช้อำนาจหน้าที่โยกย้ายเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ญาติของตน

ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า “จำเลยมีส่วนพัวพันในการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้เกี่ยวดองเป็นญาติ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ศาลวินิจฉัยว่า “จำเลยทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ... การโยกย้ายตำแหน่งไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ”

วานนี้ (6) ขณะมาขึ้นศาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ประพฤติผิด และเธอไม่ได้มาปรากฏตัวที่ศาลในวันนี้ (7) ขณะที่โฆษกของเธอยังคงไม่สะดวกที่จะออกมาแสดงความเห็น

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะสามารถยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาลได้หรือไม่ หากเธอต้องได้รับโทษอื่นๆ นอกเหนือจากการพ้นสภาพนายกรัฐมนตรี หรือในกรณีที่เธอถูกสั่งห้ามเล่นการเมือง

รอยเตอร์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคาดการณ์กันว่า ศาลจะสั่งให้รัฐบาลพ้นตำแหน่งยกชุด ทว่าในที่สุดตัดสินว่า รัฐมนตรี 9 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ควรก้าวลงจากตำแหน่ง ขณะที่คนอื่นๆ ยังสามารถอยู่ต่อได้ ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยยังเป็นรัฐบาลรักษาการต่อไป

นอกจากนี้ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ขั้นตอนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นเช่นไร เนื่องจากโดยปกติแล้ว นายกรัฐมนตรีได้รับเลือกมาจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถูกยุบไปตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาประกาศจัดการเลือกตั้ง เพื่อปลดชนวนวิกฤตประท้วงที่กำลังทวีความร้อนแรง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นชอบให้มีการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ แต่วันเวลาดังกล่าวยังไม่ผ่านความเห็นชอบอย่างเป็นทางการ และมีแนวโน้มที่ฝ่ายค้านอาจออกมาคัดค้านอีกครั้ง

รอยเตอร์ชี้ว่า ทางด้านแกนนำการเคลื่อนไหวของกองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ (กปท.) รู้สึกยินดีกับคำตัดสินของศาลที่สั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นสภาพนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงเน้นย้ำว่าการชุมนุมจะยังคงดำเนินต่อไป

แซมดิน เลิศบุศย์ กล่าวว่า “แน่นอนว่าคำตัดสินของศาลวันนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก แต่เรายังคงไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการให้มีการปฏิรูป และเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน”

“ถึงแม้ยิ่งลักษณ์จะพ้นสภาพแล้ว แต่พรรคเพื่อไทยก็ยังเป็นรัฐบาลรักษาการอยู่” เขากล่าวกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ พร้อมทั้งเสริมว่า จะยังเดินหน้าจัดการชุมนุมวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ต่อไป

ทางด้าน บีบีซี นิวส์ ได้สัมภาษณ์นายนพดล ปัทมะ ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ และที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดย นายนพดล กล่าวว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นสิ่งที่มีผลผูกพันให้ต้องปฏิบัติตาม

“จริงๆ แล้วท่านนายกฯไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา เพราะรัฐธรรมนูญระบุเอาไว้ว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อทุกๆ ฝ่าย ถึงแม้ทางเราเองก็จะจัดการประท้วงทางการเมืองขึ้นมาด้วย”

นายนพดล บอกว่า รัฐมนตรีที่ยังคงเหลืออยู่ จะปฏิบัติหน้าที่ของพวกตนต่อไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

บีบีซีเท้าความว่าก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรครัฐบาลได้เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งใหม่ในเดือนกรกฎาคม หลังจากการเลือกตั้งซึ่งมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เป็นโมฆะ

“เราจะต้องมุ่งโฟกัสไปที่การเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อที่ประชาชนไทยจะสามารถตัดสินอนาคตของพวกเขาเองได้” นายนพดล กล่าวย้ำจุดยืนของฝ่ายทักษิณ

ส่วนทางด้าน นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ให้ความเห็นกับบีบีซี นิวส์ ว่า การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญคราวนี้ จะยังไม่สามารถยุติวิกฤตทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

นายเกียรติ บอกว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังคงเน้นย้ำว่าจำเป็นที่จะต้องดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองก่อนที่จะจัดการเลือกตั้ง และชี้ว่า “ดังนั้น ความเห็นที่แตกต่างกันจึงยังคงดำรงอยู่ และเราจะต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีอะไรคลี่คลายไปในระยะสองสามวันข้างหน้านี้”

สำหรับสำนักข่าวเอพี บอกว่า คำตัดสินคราวนี้ถือเป็นการพลิกผันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจครั้งล่าสุดในวิกฤตทางการเมืองของไทยที่ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อ โดยถือเป็นชัยชนะสำหรับพวกที่เป็นปรปักษ์ต่อยิ่งลักษณ์ ซึ่งเข้าร่วมการประท้วงตามท้องถนนอันอึกทึกครึกโครม และบางครั้งก็เกิดความรุนแรง ด้วยข้อเรียกร้องให้เธอลงจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้แก่ผู้นำชั่วคราวที่จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม คำตัดสินคราวนี้ก็ส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ในท่ามกลางความคับขันทางการเมือง และมีโอกาสอย่างมากที่จะเกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอีก ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วเป็นต้นมา มีผู้ถูกสังหารไปกว่า 20 ราย และบาดเจ็บอีกเป็นร้อยๆ ราย จากเหตุยิงต่อสู้กันด้วยปืนเป็นระยะๆ, การลอบยิงโดยคนที่ขับรถเข้ามาใกล้ๆ ที่ชุมนุม, และการโจมตีด้วยลูกระเบิด

คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ยังก่อให้เกิดความอึมครึมว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งใหม่ในเดือนกรกฎาคมตามที่ฝ่ายรัฐบาลวางแผนเอาไว้ได้หรือไม่ และเรื่องนี้น่าจะสร้างความโกรธเกรี้ยวให้แก่พวกผู้สนับสนุนยิ่งลักษณ์ ซึ่งได้นัดหมายจัดการชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯวันเสาร์นี้ (10) เอาไว้แล้ว

เอพีได้รายงานคำพูดของนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงที่เป็นฝ่ายสนับสนุนยิ่งลักษณ์ ซึ่งกล่าวว่า “คำตัดสินในวันนี้เป็นเพียงความขรุขระที่ทำให้เกิดการกระทบกระแทกขึ้นบนถนนสายประชาธิปไตย แต่เราจะยังคงเดินหน้าต่อไป” และ “จุดยืนของเรามีความชัดเจนมาก … ถ้ามีนายกรัฐมนตรีที่ผิดกฎหมายเข้ามา เราจะสู้ ถ้ามีการรัฐประหาร เราจะสู้”

ในอีกด้านหนึ่ง เอพีมองว่ายังไม่มีความชัดเจนเอาเลยว่า พวกปรปักษ์ของยิ่งลักษณ์จะสามารถบรรลุข้อเรียกร้องสำคัญๆ ข้ออื่นๆ ของพวกเขาได้อย่างไร เป็นต้นว่า การก่อตั้งสภาปฏิรูปซึ่งกำกับดูแลโดยผู้นำที่พวกเขาต้องการ เพื่อดำเนินขั้นตอนต่างๆ หลายหลากในการกำจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศ และกำจัดสิ่งที่พวกเขาระบุว่าเป็นการเมืองแบบอำนาจเงินเป็นใหญ่ ดังเช่น การซื้อสิทธิขายเสียง

ส่วนสำนักข่าวเอเอฟพี ได้เสนอทัศนะของนายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันความมั่นคงและนานาชาติศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวว่า จากการที่ทั้งสองฝ่ายยังคงมีความมั่นอกมั่นใจว่า พวกเขาสามารถที่จะเป็นฝ่ายชนะเช่นนี้แล้ว ศึกสงครามที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วงชิง “จิตวิญญาณของประเทศไทย” คราวนี้ จึงดูยังจะลากยาวต่อไป

“ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายคิดว่าพวกเขาไม่สามารถที่จะชนะกวาดเอาไปทั้งหมดได้ นั่นแหละเราจึงจะได้เห็นการประนีประนอมบางประการ … แต่สำหรับในขณะนี้เราน่าที่จะได้เห็นสิ่งต่างๆ ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเยอะทีเดียว ก่อนที่อะไรต่างๆ จะกลับดีขึ้นมาได้” เขาบอก
กำลังโหลดความคิดเห็น