เผยไตรมาสแรก คอนโดฯ เปิดตัวใหม่ลด ส่งผลงานก่อสร้างคอนโดฯ หดตัว 20% จากปีก่อนหน้า หวั่นปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงานหลังเงินเฟ้อปรับตัว ต้นทุนก่อสร้าง ราคาวัสดุฯ ค่าแรงพุ่ง ระบุแรงงานเริ่มล้น หลังโปรเจกต์ 2.2 ล้านล้านบาทล้ม “พรีบิลท์” ยันงานก่อสร้างหดไม่กระทบเหตุ backlog ในมือเพียบ แถมรับงานเพิ่มต่อเนื่อง มั่นใจปี 57 รายได้รับรู้ตามเป้า 6,800 ล้านบาท ด้าน “บิลท์แลนด์” ตอบกระแสแผ่นดินไหว ดึง “มิยาโมโต้” นั่งที่ปรึกษาปรับแบบก่อสร้าง “เทมโป้ แกรนด์ สาทร-วุฒากาศ” ต้านแผ่นดินไหว 7 ริกเตอร์ ยันไม่ปรับราคาแม้ต้นทุนก่อสร้างพุ่ง 10%
นายชัยรัตน์ ธรรมพีร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ PREB กล่าวว่า ภาพรวมตลาดก่อสร้างในไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีอัตราการหดตัวของงานก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมในตลาดค่อนข้างมาก โดยมีอัตราการหดตัวลงจากปีที่แล้วกว่า 20% ทั้งนี้ การหดตัวของงานก่อสร้างดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดการหั่นราคาแย่งงานของผู้รับเหมาก่อสร้างได้ แต่โดยส่วนตัวแล้วมองว่า ปัญหาการหั่นราคาแย่งงานของผู้ประกอบการจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากขณะนี้การปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อ และต้นทุนก่อสร้าง รวมถึงค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ทำให้ต้นทุนก่อสร้างปรับตัวสูงมากแล้ว ทำให้การหั่นราคาแย่งงานเกิดขึ้นได้ยาก
“ตรงกันข้ามปัญหาที่น่ากังวล คือ ปัญหาการทิ้งงานของผู้รับเหมาฯ ซึ่งเกิดจากปัญหาการแบกต้นทุนแรงงาน และเงินเฟ้อ รวมถึงต้นทุนก่อสร้างที่สูงขึ้น ทำให้บริษัทที่มีสภาพคล่องทางการเงินต่ำ ขาดเงินหมุนเวียนในการดำเนินงานอาจจะส่งผลให้เกิดการทิ้งงานก่อสร้างได้”
นอกจากนี้ การถือแรงงานก่อสร้างในมือจำนวนมากก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อสภาพคล่องของผู้รับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากในช่วงก่อหน้านั้น บริษัทรับเหมาก่อสร้างต่างก็พยายามแย่งแรงงานและถือแรงงานไว้ในมือจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ขณะเดียวกัน ก็เป็นการเตรียมความพร้อมในการรับงานใหม่ ซึ่งจะเกิดขึ้นจำนวนมากในปี 2557 นี้ จากโครงการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน ตามแผนเมกะโปรเจกต์ 2.2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล แต่หลังจากโครงการดังกล่าวถูกล้มไป ทำให้ปัญหาแรงงานขาดแคลนในขณะนี้กลับกลายเป็นปัญหาแรงงานล้น เนื่องจากไม่มีงานก่อสร้างทั้งภาครัฐ และเอกชนเกิดขึ้นตามที่มีการประมาณการไว้
นายวิโจน์ เจริญตรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีบิลท์ และบิลท์แลนด์ จำกัด กล่าวว่า สำหรับปัญหางานก่อสร้างที่หดตัวขณะนี้ไม่กระทบการดำเนินงาน และรายได้ของบริษัท เนื่องจากบริษัทยังมี backlog สะสม และมีการรับงานก่อสร้างเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 57 บริษัทวางเป้าหมายรายได้รวมไว้ที่ 6,800 ล้านบาท ขยายตัวจากปี 56 ซึ่งมีรายได้รับรู้ที่ 5,000 ล้านบาท 20% โดยการขยายตัวจะมาจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โดย ณ ปลายปี 56ที่ผ่านมา มีมูลค่างานคงค้างในมือ (backlog) สูงถึง 9,000 ล้านบาทเศษ ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ภายในปี 57 นี้ 4,000-5,000 ล้านบาท โดยในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา บริษัททยอยรับรู้รายได้จากงานก่อสร้างโครงการแล้ว 1,100-1,200 ล้านบาท และคาดว่าในไตรมาสที่เหลือจะทยอยรับรู้รายได้เพิ่มอีก 4,000-5,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน เพื่อรักษาระดับ backlog ในมือไว้ที่ 9,000 ล้านบาทเศษตามแผนเดิม บริษัทได้เซ็นสัญญารับงานก่อสร้างเข้ามาใหม่เพิ่มในปีนี้อีกประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทเช่นกัน โดยในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ได้เซ็นสัญญารับงานก่อสร้างใหม่เข้ามาแล้ว 1,300 ล้านบาท เป็นงานก่อสร้างอาคารพักอาศัยสูง 12-13 ชั้น ของวัดพระธรรมกาย และในไตรมาสที่ 3-4 นี้ จะมีการเซ็นสัญญารับงานก่อสร้างเพิ่มอีกประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้บริษัทรักษาระดับ backlog งานในมือต่อปีที่ 9,000 ล้านบาทเศษต่อปีตามแผน
นายวิโจน์ กล่าวว่า บริษัทได้ปรับแบบงานก่อสร้างโครงการ เทมโป แกรนด์ สาทร-วุฒากาศ มูลค่าโครงการ 2,500 ล้านบาทใหม่ เนื่องจากบริษัทเห็นถึงความสำคัญของความปลอดภัยในอนาคตของผู้อยู่อาศัยในโครงการ โดยได้เชิญบริษัทที่ปรึกษาการออกแบบโครงการต้านแผนดินไหว “มิยาโมโต” ซึ่งได้รับความเชื่อถือ และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการออกแบบระบบป้องกันแผนดินไหวในประเทศญี่ปุ่น เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบและแก้ไขแบบก่อสร้างโครงการดังกล่าว ซึ่งภายหลังการปรับแบบก่อสร้างโครงการแล้วจะทำให้โครงการ เทมโป แกรนด์ สาทร-วุฒากาศ สามารถต้านรับการสั่นไหวในกรณีที่เกิดปัญหาแผ่นดินไหวได้ถึง 7 ริกเตอร์
โดยปัจจุบัน โครงการดังกล่าวได้ปรับแก้แบบก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย และผ่านกระบวนการ EIA แล้ว ซึ่งจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ในทันที ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปีจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ หลังจากปรับแบบงานก่อสร้างโครงการแล้ว ส่งผลให้มีการลดและเพิ่มความสูงของอาคารในโครงการทั้ง 2 อาคารใหม่ โดยในส่วนของอาคารเอ ซึ่งเดิมสูง 41 ชั้น จะปรับลดจำนวนยูนิตเหลือ 24 ชั้น ขณะที่อาคารบี ได้มีการปรับเพิ่มจำนวนยูนิต และเพิ่มชั้นจากเดิมเป็น 32 ชั้น ซึ่งส่งผลให้จำนวนยูนิตในโครงการรวมลดลงจากเดิม 1,068 ยูนิต เหลือ 1,004 ยูนิต
อย่างไรก็ตาม ในการปรับแบบและเสริมระบบป้องกันแผนดินไหวในครั้งนี้ ทำให้ต้นทุนงานก่อสร้างโครงการ เทมโป แกรนด์สาทร-วุฒากาศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 105% ของมูลค่างานก่อสร้างโครงสร้างอาคาร หรือมีต้นทุนงานก่อสร้างเพิ่มขึ้น 500 บาทต่อตารางเมตร สำหรับลูกค้าที่จองซื้อห้องชุดในชั้นที่สูงกว่า 24 ของอาคารเอ หลังจากที่มีการปรับแบบแล้วบริษัทได้มีการแจ้งให้ทราบ และให้สิทธิพิเศษสามารถจองซื้อห้องชุดใหม่ได้ในราคาเดิม