ปัญหาการเมือง ปัจจัยชี้วัดทิศทางตลาดอสังหาฯ ปี 57 ชี้ยืดเยื้อฉุดตลาดโตติดลบแน่ หวังครึ่งปีหลังตลาดฟื้นไข้ ระบุการเมืองจบเศรษฐกิจฟื้นเร็ว ด้านบิ๊กอสังหาฯ ยกเป็นปี “พักยก” หันตรวจคุณภาพสินค้า บริการ เวลาก่อสร้าง รองรับการแข่งขัน พร้อมแนะตรวจสุขภาพธุรกิจหาทางป้องกันก่อนเจ๊ง
สถานการณ์การเมืองของไทยถึงวันนี้หลายคนเริ่มปลง และมองไม่เห็นทางออก ไม่อาจคาดเดาได้ว่าอนาคตการเมืองของไทยจะลงเอยแบบใด การชุมนุมยืดเยื้อยาวนานมาตั้งแต่ปลายปี 2556 จนถึงปัจจุบัน นับว่ายาวนานมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา สิ่งที่บอบช้ำคือ คนไทย ประเทศไทย และที่สำคัญภาวะเศรษฐกิจ จากเดิมที่ชะลอตัวอยู่แล้วยิ่งทรุดหนักเข้าไปอีก
ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีใครกล้าฟันธง หรือคาดสถานการณ์ล่วงหน้า การวางแผนธุรกิจจะเป็นแผนระยะสั้นพร้อมเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาวะการเมืองจะเป็นเช่นไร ทุกคนก็ต้องกิน ต้องใช้ ต้องทำงาน ต้องมีที่พักอาศัย ดังนั้น จึงยังคงเห็นการลงทุนพัฒนาอสังหาฯ อย่างต่อเนื่อง
นับเป็นการท้าทายความสามารถของผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางวิกฤตการเมือง มีม็อบเกิดขึ้นกลางกรุง ส่วนใครที่ไม่กล้าก็ชะลอแผนการลงทุนออกไปก่อน นำสินค้าเก่าที่มีออกมาขายไปก่อน รอจังหวะการเมืองนิ่งค่อยบุกตลาดอีกครั้ง
อสังหาฯ 57 ปีแห่งการ “พักยก”
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการอสังหาริมทรัพย์มาเป็นเวลานาน ผ่านพ้นวิกฤตมาหมายครั้ง จนกลายเป็นพี่ใหญ่แห่งวงการอสังหาริมทรัพย์อย่าง นาย อนันต์ อัศวโภคิน ประธานคณะกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เชื่อว่า ไม่ว่าการเมืองจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม ทั้งมีการเลือกตั้งหรือมีนายกรัฐมนตรีคนกลาง ก็จะคาราคาซังเช่นนี้ต่อไป เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอม และการที่ปัญหาการเมืองไร้ความชัดเจน ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และกำลังซื้อลดลง ปีนี้จึงถือเป็นปีแห่งการ “พักยก” ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ในช่วงเดือนธันวาคม 56-กุมภาพันธ์ 57 ตลาดชะลอตัวอย่างมาก และปรับตัวดีขึ้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าทั้งปีจะไม่ดีเท่ากับปี 56 ตลาดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดน่าจะเป็นตลาดคอนโดมิเนียมล้านต้นๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และในหัวเมืองใหญ่ๆ ที่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เปิดตัวออกสู่ตลาดจำนวนมากเฉลี่ยปีละกว่า 50,000 หน่วย มีสัดส่วน 50-60% ของตลาดคอนโดฯ สินค้าในกลุ่มนี้เน้นจับกลุ่มลูกค้าหอพัก หรืออพาร์ตเมนต์ ซึ่งตลาดนี้ย่อมมีวันหมด นับวันจะชะลอตัวลงเรื่อยๆ โดยคาดว่าจะมีความต้องการเพียงปีละ 20,000-30,000 ยูนิตเท่านั้น ไม่ใช่ 50,000 ยูนิต เช่นในช่วงที่ผ่านมา
สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับธุรกิจอสังหาฯ คือ คุณภาพของสินเชื่อ ความสามารถในการผ่อนชำระของผู้ซื้อ เพราะหากซื้อแล้วลูกค้าไม่รับโอน หรือกลายเป็นหนี้เสียจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมาในภายหลังได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเก็บเงินดาวน์ให้มาก เพื่อที่จะได้ลูกค้าที่มีคุณภาพ มีการออม และเตรียมความพร้อมก่อนซื้อบ้าน กลุ่มนี้จะไม่ยอมทิ้งดาวน์ และจะสามารถผ่อนค่างวดได้ เพราะได้เตรียมความพร้อมมาระดับหนึ่งแล้ว
แม้ว่าภาวะการเมืองของไทยจะมีความรุนแรง แต่ประเทศไทยผ่านความรุนแรงทางการเมืองมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งก็รอดมาได้ทุกครั้ง ดังนั้น ผู้ประกอบการไม่ควรกังวลมากเกินไปจนไม่เป็นอันทำมาหากิน เมื่อให้ปีนี้เป็นปีพักยก ผู้ประกอบการจึงควรหันมาตรวจสอบ (QC) ภายในองค์กรของตนเองใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ตรวจสอบคุณภาพสินค้า 2.ตรวจสอบคุณภาพบริการ ต้องดูแลลูกค้าตั้งแต่วันแรกเข้ามา ที่สำคัญคือ การบริการหลังการขายเพราะจะเป็นการบอกต่อของลูกค้า และ 3.ตรวจสอบเวลา ว่าการก่อสร้างตรงตามเวลา หรือส่งมอบได้เร็วหรือไม่ หากทั้ง 3 ข้อไม่ได้ตามมาตรฐาน ต้องกลับมาดูความผิดพลาดว่าเกิดจากอะไร และต้องแก้ไขอย่างไร
การเมืองฉุดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความขัดแย้งและเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ จะส่งผลต่อภาคการลงทุน การท่องเที่ยว และภาคอสังหาฯ ที่มีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ทางการเมือง และนับเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
แม้ว่าจะมีความขัดแย้งทางการเมือง แต่ยังเชื่อว่าธุรกิจอสังหาฯ จะยังสามารถเติบโตได้ โดยตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจทรงตัวเท่ากับปี 56 เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ส่วนตลาดในต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่ เมืองท่องเที่ยวที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมจะเติบโตประมาณ 15% จากปัจจัยบวกภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เอื้อต่อการฟื้นตัว รวมทั้งกระแสของการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะนำมาซึ่งการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างภูมิภาค
ในปี 2557 แนวโน้มตลาดคอนโดมิเนียม จะยังคงเติบโตเป็นผู้นำตลาดเช่นเดิม ครองส่วนแบ่งในตลาดคิดเป็น 55% แต่ราคาเฉลี่ยต่อยูนิตลดลง เนื่องจากโครงการระดับกลาง-ล่าง มีการเปิดตัวมากกว่าปี 2556 ประกอบกับผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายปรับแผนธุรกิจมาพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมราคาถูกมากขึ้น ขณะที่โครงการคอนโดมิเนียมระดับกลาง-บน คาดว่ายังคงได้รับการตอบรับที่ดี เนื่องจากตลาดกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ
ส่วนโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ ราคาเฉลี่ยจะสูงขึ้น ผันแปรตามต้นทุนที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะทำเลในแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ส่วนทาวน์เฮาส์ จะขยับเข้าสู่เมืองมากขึ้น ขณะที่บ้านเดี่ยวระดับราคา 3-5 ล้านบาท ยังคงมีความต้องการมากที่สุด แต่ในการพัฒนาโครงการอาจจะกระจายตัวอยู่ห่างจากเขตเมืองออกไป สำหรับตลาดที่อยู่อาศัยระดับราคาสูงขึ้นไป จะได้ผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจากลูกค้ามีความมั่นคงทางด้านรายได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการคือ แนวโน้มหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น จะทำให้สภาพคล่องในระบบการเงินตึงตัว ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อน้อยลง เนื่องจากคุณภาพผู้กู้ลดลง
นายเลอศักดิ์ จุลเทศ รองประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท พฤกษาฯ กล่าวว่า ปัญหาการเมืองในปัจจุบันส่งผลกระทบลูกค้าบางส่วนชะลอการตัดสินใจในการจองซื้อบ้านใหม่ แต่ในส่วนของยอดโอนบ้านยังอยู่ในระดับปกติ ไม่กระทบรายได้ โดยเฉพาะในส่วนของแนวราบที่เป็นทาวน์เฮาส์ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริง แต่หากการชุมนุมยังคงยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาส 3 ของปีนี้ หรือนานกว่านั้นอาจได้รับผลกระทบ ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ประเมินความเสี่ยงสถานการณ์ทางการเมืองไว้ในเป้าหมาย และกลยุทธ์ของบริษัทแล้ว แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยจะเน้นการปรับตัวอย่างรวดเร็วให้สอดคล้อง และพร้อมรองรับในทุกสถานการณ์
การเมืองยืดเยื้อฉุดอสังหาฯ โตติดลบ
นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า สถานการณ์อสังหาฯ ปีนี้คาดเดาลำบากมาก เนื่องจากมีปัจจัยลบจากการเมือง เหมือนขับรถเจอถนนขรุขระ แถมทัศนวิศัยไม่ดีมีหมอกลงจัด มองไม่เห็นทาง ทุกคนต้องระมัดระวัง หากการเมืองยืดเยื้อไปจนถึงกลางปีก็จะกดดันให้ตลาดอสังหาฯ ปี 57 โตติดลบได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากยอดขายของผู้ประกอบการ พบว่า ลูกค้าเข้าเยี่ยมชมโครงการลดลงกว่า 50% แต่ยอดขายลดลงประมาณ 15-20% เท่านั้น ซึ่งประเมินได้ว่า ผู้บริโภคไม่ได้มีปัญหาเรื่องกำลังซื้อ แต่บรรยากาศทางการเมืองก็มีผลให้อารมณ์ในการซื้อของคนอยากมีบ้านหายไป
คอนโดฯ ในเมืองกระอัก
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า จากปัจจัยทางการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน จึงประเมินภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ว่ามีแนวโน้มหดตัวลงจากปีที่ผ่านมา แต่จะหดตัวมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อทางการเมือง โดยการซื้อขายที่อยู่อาศัยตั้งแต่ช่วงต้นปีชะลอตัวมาก โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมย่านใจกลางเมือง เช่น สาทร สุขุมวิท เพลินจิต ยอดขายหดตัวมาก แต่ราคาขายยังไม่ได้ลดลง ซึ่งหากปัญหาการเมืองกินเวลานานกว่า 6 เดือน กลุ่มคอนโดมิเนียมจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
ขณะที่แนวโน้มการพัฒนาโครงการในปีนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่หันไปพัฒนาโครงการบ้านแนวราบมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการปรับตัวที่ดี และมีความเป็นไปได้ที่จะขยับไปเติบโตยังตลาดต่างจังหวัดใหม่ๆ เพราะในหลายจังหวัดเศรษฐกิจท้องถิ่นยังขยายตัวได้ เช่น ตลาดค้าชายแดน เป็นต้น ส่วนกลุ่มโรงแรม ปีนี้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองมากที่สุด ซึ่งหวังว่าถ้าการเมืองจบ การท่องเที่ยวน่าจะฟื้นตัวได้เร็ว ส่วนกลุ่มค้าปลีกยังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะสาขาในต่างจังหวัด
ด้านนายอุทัย อุทัยแสงสุข รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจและพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาทางการเมืองอาจจะทำให้คนชะลอการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาสแรก บริษัทจึงได้เปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมเพียงโครงการเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าไตรมาส 2 ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะฟื้นตัวดีขึ้น และเชื่อว่ายอดขายจะกลับมาเหมือนเดิมในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะเหตุการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ลูกค้ามีความคุ้นเคยอยู่แล้วว่าหลังสถานการณ์ทางการเมืองเศรษฐกิจจะกลับมาดีเหมือนเดิม
ขณะที่คอนโดมิเนียมตากอากาศ และคอนโดมิเนียมกลางเมืองในต่างจังหวัดที่ไม่ได้รับผลกระทบทางการเมืองยังได้รับความสนใจจากลูกค้าชาวไทย และนักลงทุนต่างชาติ เพราะเมื่อเปรียบเทียบราคาอสังหาฯ ในเมืองท่องเที่ยวของไทยกับประเทศอื่นแล้ว การลงทุนในคอนโดมิเนียมในหัวหิน ภูเก็ต เชียงใหม่ หรือพัทยา ยังใช้งบประมาณที่ต่ำ ขณะที่มีผลตอบแทนสูง
QH กระจายพอร์ตลงทุนลดความเสี่ยง
นายรัตน์ พานิชพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ QH ระบุว่า ปัจจัยทางการเมืองนั้นส่งผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากปัญหาการเมืองที่ยังมีท่าทีที่ไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการในตลาดชะลอ หรือเลื่อนการลงทุนออกไป และในส่วนผู้บริโภคก็ชะลอการตัดสินใจซื้อ จึงทำให้ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ดูเงียบๆ ลงไปบ้าง
“ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะฟื้นตัวได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าการเมืองจะเลิกเมื่อไหร่ ถ้าเมื่อไหร่การเมืองไม่มีปัญหา ทุกอย่างก็คงจะดีขึ้น เพราะตอนนี้ความอัดอั้นของผู้บริโภคก็คงรอเรื่องของการเมืองให้เห็นภาพชัดเจนว่าจะเป็นในทิศทางไหน เรียกได้ว่าดีมานด์ในตลาดยังมีอยู่ เพียงแต่รอดูทิศทางการเมืองเท่านั้นเอง ตลาดอสังหาฯ ก็เหมือนตลาดรถยนต์ เมื่อไหร่ที่การเมืองวุ่นวาย ความต้องการในทุกภาคธุรกิจก็จะชะลอตัวเพื่อดูทิศทางเท่านั้นเอง ไม่ได้ชะลอตัวเพราะเกิดจากการไม่มีกำลังซื้อ” นายรัตน์ กล่าว
กรณีที่ธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อนั้น ธนาคารมีเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว เพียงแต่ในช่วงนี้อาจจะเข้มข้นมากกว่าเดิม เพราะทางธนาคารเองก็กังวลภาวะการเมือง และเศรษฐกิจ ทำให้อัตราการถูกปฏิเสธการให้เงินกู้เพิ่มมากขึ้น
ส่วนการลงทุนของบริษัทเน้นกระจายการลงทุนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพิ่มสินค้าให้ครอบคลุมทุกเซกเมนต์ และพัฒนาโครงการในทำเลที่ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพฯหรือต่างจังหวัด เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน ขณะเดียวกัน สิ่งที่ปรับปรุงมาตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมาคือ การวางเงินดาวน์คอนโดฯ ที่ 15%
อย่างไรก็ดี ในภาวะที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่ยังไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้ บริษัทฯ มีกลยุทธ์ที่จะช่วยกระตุ้นยอดขายในช่วงที่ตลาดซบเซาโดยเพิ่มโปรโมชันมากขึ้น จากโปรโมชันปกติที่มีอยู่แล้ว เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจในการซื้อ ทั้งนี้ โปรโมชันก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละทำเล และระดับราคาแตกต่างกันไป
กลยุทธ์ แจก แถม ใช้ไม่ได้ผลในภาวะการเมืองแรง
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในไตรมาสแรกภาพรวรวมตลาดยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 56 แต่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาสแรก 57 เนื่องมาจากผู้ประกอบการเริ่มตัดสินใจที่จะเปิดตัวโครงการท่ามกลางสภาวะไม่มั่นคงทางการเมือง อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการปรับแผนธุรกิจ ให้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ และเพิ่มความเข้มข้นในการบริหารต้นทุน และค่าใช้จ่าย รวมทั้งสภาพคล่องทางการเงิน โดยปัจจุบัน บริษัทอยู่ใน BCP ขั้นที่ 1
ทั้งนี้ บริษัทได้พิจารณาลงไปในรายละเอียดเชิงลึกจากข้อมูลภายในของบริษัทเอง พอจะประเมินได้ว่า หากเป็นโครงการเปิดตัวใหม่อาจะได้รับผลกระทบจากการชะลอการตัดสินใจซื้อจากผู้บริโภคอยู่บ้าง แม้ว่าอัตราการเข้าชมจะอยู่ในอัตราใกล้เคียงกับภาวะปกติ แต่ผู้บริโภคเชื่อว่ายังพอจะรอความชัดเจนของสภาวะโดยรวมก่อนได้ เนื่องจากโครงการต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างอีกอย่างน้อย 1 ปี หากสถานการณ์บ้านเมืองมีความชัดเจน การตัดสินใจซื้อในช่วงระยะเวลาดังกล่าวยังมีความเป็นไปได้
“ในช่วงที่ตลาดขาดความเชื่อมั่น กลยุทธ์การตลาดประเภท ลด แลก แจก แถม ไม่สามารถใช้งานได้ เพราะไม่ได้ตอบโจทย์ของผู้บริโภค ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในใจผู้บริโภค ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าตลาดอาจจะฟื้นตัวขึ้นบ้าง แต่ยังไม่อยู่ในภาวะปกติ หากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่มีความชัดเจน” นายโอภาส กล่าว
หวังไตรมาส 2 อสังหาฯ ฟื้นไข้
นายแสนผิน สุขี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลเด้น แลนด์ เรสซิเด้นซ์ จำกัด คาดการณ์ว่า ในไตรมาส 2 ตลาดอสังหาริมรัพย์มีแนวโน้มฟื้นตัวมากขึ้น ทั้งในแง่ผู้ประกอบการต้องเร่งยอดขายให้ได้ตามเป้าหมาย และเปิดโครงการที่ชะลอในไตรมาสแรก อีกทั้งกลุ่มลูกค้าที่ชะลอการตัดสินใจในช่วงไตรมาสแรก จะกลับมาตัดสินใจซื้อมากขึ้นในไตรมาสนี้ รวมถึงดอกเบี้ยที่ปรับลดลง ทำให้คาดการณ์ว่า ในไตรมาส 2 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาคึกคักขึ้นกว่าในไตรมาสแรก ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองด้วยเหมือนกัน
ส่วนกรณีธนาคารพาณิชย์ออกมาคุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อนั้น การพิจารณาสินเชื่อมีความละเอียดถี่ถ้วนขึ้น มีการตรวจสอบลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้ระยะเวลาการอนุมัติล่าช้ากว่าเดิม ซึ่งอาจส่งผลทำให้ผู้ประกอบการในหลายๆ บริษัทยอดโอนไม่เป็นไปตามเป้าหมายได้ แต่จะไม่กระทบต่อลูกค้าที่มีกำลังซื้อ และประวัติทางการเงินที่ดี
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกลยุทธ์ที่จะช่วยกระตุ้นยอดขายในช่วงที่ตลาดซบเซา โดยการพัฒนาสินค้าให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นข้อมูลที่มาจากการศึกษาสภาพตลาด การวิจัยที่เราทำอย่างต่อเนื่อง จนเรารู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร และตอบสนองในการพัฒนาสินค้าของเราให้ดีตามความคาดหวังของลูกค้า และให้สิ่งที่เหนือความคาดหมายของลูกค้าในระดับราคาที่ลูกค้ารับได้
ขณะที่นายปราโมทย์ เจษฎาวรางกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท วังทอง กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กลับมองในทางตรงข้ามว่า ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ไตรมาสที่ 2 จะทรงตัวจากไตรมาสแรก เพราะปัจจัยทางการเมืองยังไม่มีความชัดเจน และอยู่ในช่วงวันหยุดยาว ซึ่งคาดว่าน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ปัญหาการเมืองยังไม่สงบจะส่งผลกระทบต่อลูกค้าชะลอการตัดสินใจซื้อ เพราะมีความกังวล และรอดูสถานการณ์ของบ้านเมืองว่าจะมีความชัดเจนอย่างไร
แนะตรวจสอบสุขภาพธุรกิจ
นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า ภาวะขณะนี้ผู้ประกอบการจะต้องตรวจสุขภาพธุรกิจ โดยตรวจสอบจากยอดขาย และสัดส่วนการขายว่ามีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ เช่น เดิมเข้ามาดูโครงการ 5 คน ซื้อ 1 คน แต่หากตอนนี้เข้ามา 10 คน ซื้อ 1 คน ก็ต้องพิจารณาตรวจสอบว่ามีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นหรือไม่ สินค้าใด ระดับราคาใดมีปัญหา ตรวจสอบว่าสถาบันการเงินมีการส่งสัญญาณชะลอการปล่อยสินเชื่อหรือไม่ หรือมีการเพิ่มหลักประกันหรือไม่ รวมทั้งเรื่องกระแสเงินสดของบริษัท
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับตัว โดยหากลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มลูกค้าเฉพาะ รวมถึงมีการปรับตัวด้านการก่อสร้างให้รวดเร็ว ต้องรักษาระดับหนี้สินต่อทุนไม่ให้สูงเกินไป ทั้งนี้ จะต้องดูระยะยาวไปถึงช่วงที่ตลาดฟื้นตัวว่าจะมีการเตรียมแผนที่จะขยายตัวอย่างไรบ้าง
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการหล่นวูบ
ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ประจำไตรมาส 1/ 2557 พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันมีค่าเท่ากับ 43.7 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่แล้ว (4/2556) ซึ่งดัชนีมีค่าเท่ากับ 50.5 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 1/2556) ซึ่งดัชนีมีค่าเท่ากับ 57.8 และถือว่าลดลงต่ำที่สุดในรอบ 9 ไตรมาส (นับจากช่วงวิกฤตน้ำท่วมปลายปี 2554) สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังขาดความมั่นใจ โดยเฉพาะในด้านยอดขาย และผลประกอบการ นอกจากนี้ ยังมีความกังวลด้านการลงทุน การจ้างงาน ต้นทุนการประกอบการ และชะลอการเปิดโครงการใหม่ และ/หรือ เฟสใหม่
ส่วนดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้า มีค่าเท่ากับ 58.2 ปรับลดลงจากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งมีค่าเท่ากับ 62.0 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ซึ่งดัชนีมีค่าเท่ากับ 71.6 เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่ออนาคตจากปัจจัยลบต่างๆ ซึ่งยังมีแนวโน้มยืดเยื้อทั้งด้านเศรษฐกิจ และการเมือง