xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์คาด กนง.ยังคงดอกเบี้ย การเมืองผ่อน ห่วงเงินเฟ้อขาขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สแตนชาร์ด-ทีเอ็มบี” ประเมิน กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย เห็นพ้องไม่จำเป็นต้องผ่อนปรนนโยบายการเงินเพิ่ม ระบุสาเหตุมาจากการเมือง หากคลี่คลายเศรษฐกิจฟื้นเร็ว ขณะที่แนวโน้มเงินเฟ้อเริ่มส่อแววขึ้นเร็ว จากราคาน้ำมันกดดัน

น.ส.อุสรา วิไลพิชญ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 12 มีนาคมที่จะถึงนี้ เราคาดว่า กนง.จะยังดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับ 2.25% เนื่องจากในมุมมองของเราเห็นว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวนั้นไม่ได้มาจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายไม่เพียงพอ หรือดอกเบี้ยไม่ต่ำพอ แต่มาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ทำให้ขาดความมั่นใจในการบริโภคและลงทุน และหากพิจารณาถึงสภาพคล่องแล้วพบว่า ธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องอยู่ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท เพิ่มจากไตรมาส 4 ปีก่อนที่อยู่ในระดับ 8-9 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่า สภาพคล่องไม่ได้ตึงตัว มีเพียงพอต่อการปล่อยกู้ แต่ผู้ลงทุนยังไม่มีความต้องการกู้เงิน และธนาคารพาณิชย์เองก็ชะลอการปล่อยสินเชื่อเช่นกัน ไม่ใช่เพราะดอกเบี้ยสูง หรือสภาพคล่องไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ ประเมินว่าในช่วง 6 เดือนข้างหน้า สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเผชิญก็คือ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จากเงินบาทที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปีก่อน ทำให้การนำเข้าน้ำมันมีราคาสูงขึ้น ขณะที่สถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองของยูเครน และความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นในช่วงฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และกลุ่มสหภาพยุโรป ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และอาจจะเพิ่มขึ้นถึงขั้นทำสถิติใหม่ก็เป็นได้ ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะเป็นตัวผลักดันให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังอาจเข้าใกล้ระดับ 3%

“อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาติดต่อกัน 5 เดือนแล้ว และก็ยังมีสัญญาณที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อันนี้น่าจะเป็นปัญหาที่ ธปท.ให้น้ำหนัก แต่ถ้าในอีก 6 เดือนข้างหน้าปัญหาทางการเมืองคลี่คลายลง ก็เชื่อว่าด้านบริโภค ลงทุน และท่องเที่ยวก็น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว”

น.ส.อุสรา กล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้คงเป็นครั้งที่คณะกรรมการ กนง.ตัดสินใจด้วยความลำบากเหมือนกับครั้งที่แล้ว ซึ่งหาก กนง.ตัดสินไปอีกทาง ก็คือ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ก็เชื่อว่าจะเป็นตัวเร่งทำให้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นในช่วงปลายปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นทั้งอัตราทั่วไป และอัตราพื้นฐาน

TMB ยืนมุมมองคง ดบ.หลังการเมืองผ่อนคลาย

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ยืนมุมมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 2.25 เกือบตลอดทั้งปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นระดับผ่อนคลายเพียงพอที่จะช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ในขณะที่ยังถือว่าไม่ผ่อนคลายมากเกินไปจนกระทั่งเกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยความไม่แน่นอนทางการเมืองที่กำลังส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจนั้น เป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงระยะสั้น ซึ่งพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังสามารถรองรับได้

นอกจากนี้ แม้ความไม่สงบทางการเมืองอาจทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างมากนับตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุม แต่จากตัวเลขของภาคการคลังระบุว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 การเบิกจ่ายยังคงขยายตัวได้ถึงร้อยละ 7.5 ซึ่งในส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนนั้นเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ทำให้เม็ดเงินจากภาครัฐนั้นไม่ได้สูญหายไปจากระบบทั้งหมดอย่างที่หลายฝ่ายกังวล

อีกปัจจัยหนึ่งที่น่ากังวลคือ เงินเฟ้อ แม้ว่าในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็พลิกกลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างชัดเจน โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งเป็นเป้าหมายเงินเฟ้อของแบงก์ชาติ เร่งตัวขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.22 ต่อปี ขยายตัวเกินกว่าเท่าตัวจากร้อยละ 0.61 ในเดือนกันยายนปีก่อน ซึ่งนับว่าเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ กนง. ต้องให้น้ำหนักมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพด้านราคาในระยะถัดไปได้

ทั้งนี้ ทางศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่า การชะลอตัวเพิ่มเติมของเศรษฐกิจในช่วงต้นปี เป็นผลมาจากการขาดความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือน และธุรกิจ ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลานี้อาจทำให้กลไกการส่งผ่านของอัตราดอกเบี้ยในการกระตุ้นเศรษฐกิจไร้ประสิทธิผล อีกทั้งความตึงเครียดของสถานการณ์การเมืองที่คลายตัวลงบ้างในปัจจุบัน หลังทั้ง 2 ฟากของความขัดแย้งเริ่มหันหน้ามาเจรจากัน นับว่าเป็นสัญญาณบวกที่อาจชี้ถึงพัฒนาการของสถานการณ์ไปในทางที่ดีขึ้นได้ หากความวุ่นวายจบลงโดยเร็ว ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนก็จะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงเวลาอันสั้น ดังนั้น ปัจจัยที่เสริมให้มีการคงดอกเบี้ยน่าจะยังมีน้ำหนักมากกว่าปัจจัยทางด้านที่หนุนให้มีการลดดอกเบี้ย จึงอาจเร็วเกินไปที่ กนง. จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยในครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น