xs
xsm
sm
md
lg

TMB เผยดัชนีเชื่อมั่น SME ลด ห่วงการเมือง แนะดูสภาพคล่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบี เผยดัชนีความเชื่อมั่น SME ช่วง 3 เดือนข้างหน้ากังวลเรื่องการเมืองอันดับหนึ่ง ธุรกิจในกรุงเทพฯ กระทบหนักกว่าต่างจังหวัด ภาคการผลิตกระทบหนักสุด ขณะนี้ภาคบริการ-ท่องเที่ยวความเชื่อมั่นลดมากสุด แนะดูแลติดตามสถานะคู่ค้าใกล้ชิด ห่วงการเมืองยืดเยื้อกระทบสภาพคล่อง พร้อมเตรียมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคระห์ ทีเอ็มบี กล่าวว่า จากการที่ธนาคารได้จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบีขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามภาวะธุรกิจ SME รวมถึงปัจจัยต่างๆ ทั้งด้านบวก และลบที่มีผลต่อผู้ประกอบการขนาดย่อมรายไตรมาส ล่าสุด ผลการสำรวจความเห็นธุรกิจเกือบ 500 กิจการ พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะปัจจุบันอยู่ที่ 41.1 ทรงตัวจากระดับ 40.9 ช่วงไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจ SME ใน 3 เดือนข้างหน้า ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 54.2 จาก58.4 ในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน และปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากธุรกิจมองว่าสถานการณ์รายได้อาจะไม่กระเตื้องขึ้นจากระดับปัจจุบัน ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจชะลอการลงทุนและการจ้างงานในระยะต่อไปด้วย

“ที่เราให้ความสำคัญกับธุรกิจเอสเอ็มอี ก็เพราะถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในเศรษฐกิจสูง มีสัดส่วนในจีดีพีมากพอสมควร แต่ยังมีข้อมูลไม่มากนัก โดยสำรวจดังกล่าวจะเน้นใน 2 ด้าน ได้แก่ ความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการ และด้านต้นทุน แบ่งผู้ประกอบการเป็น 3 กลุ่ม คือ ภาคบริการ การผลิต และการค้า ซึ่งจากผลสำรวจผู้ประกอบการในกรุงเทพฯ รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองมากกว่าต่างจังหวัด กลุ่มผู้ประกอบการภาคการผลิตรับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีความซับซ้อนในการบริหาร ขณะภาคบริการที่รวมท่องเที่ยวไปด้วยมีความเชื่อมั่นลดลงมากที่สุด”

ส่วนผลการสำรวจปัจจัยความกังวลที่มีผลต่อธุรกิจขนาดย่อมในเดือนมกราคม 2557 พบว่าผู้ประกอบการยกให้การเมืองเป็นปัจจัยที่น่ากังวลที่สุด ร้อยละ 42.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21.3 ในไตรมาส 4 ที่ผ่าานมา ทิ้งห่างความกังวลเรื่องเศรษฐกิจในประเทศที่ตามมาห่างๆเป็นอันดับ 2 ที่ร้อยละ 27.4 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ผู้ประกอบการกังวลเรื่องการเมืองมากกว่าภาวะเศรษฐกิจในประเทศนับตั้งแต่ธนาคารสำรวจความเห็นมา 7 ไตรมาสติดต่อกัน

“การเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ซ้ำเติมกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในเขตกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความวุ่นวายทางการเมือง กดดันให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการในกรุงเทพฯ อยู่ที่ระดับ 38.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ ส่วนภาคที่ยังมีระดับความเชื่อมั่นดีที่สุด คือ ภาคตะวันออก ที่ระดับ 48.5 เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากท่องเที่ยว และการส่งออกที่ฟื้นตัว ช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ยังมีทิศทางที่ดี และไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเมือง”

นายเบญจรงค์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองจะหมดไปก็ต่อเมื่อเราสามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลรักษาการจึงมีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนใหม่ หรือสานต่อโครงการเก่า ดังนั้น ความกังวลจะหายไปก็ต่อเมืองหมดภาวะสุญญากาศทางการเมืองนี้

ด้านการรับมือของผู้ประกอบการ SME นั้น ธนาคารแนะนำมีการดูแลด้านสภาพคล่องอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงนี้ เนื่องจากคู่ค้าอาจจะได้รับผลกระทบจนไม่สามารถชำระค่าสินค้าได้ หรือติดต่อคู่ค้า และธนาคารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทุกฝ่ายรับทราบข้อมูลที่ทันสถานการณ์ที่สุดเพี่อการบริหารธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพเพราะปัจจัยการเมืองไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด และจะมีผลกระทบต่อธุรกิจในส่วนใดบ้าง

เตรียมปรับลดประมาณการจีดีพี

นอกจากนี้ ทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ยังอยู่ระหว่างทบทวนปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจจากที่ประมาณการไว้ที่ 3.3% การส่งออกเติบโตที่ 4.5% โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งก็คงจะเป็นการปรับลง เนื่องจากยังไม่เห็นปัจจัยบวกอื่นที่จะหนุนเศรษฐกิจได้ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองน่าวิตกกังวลมากขึ้น และหากภาคการส่งออกไม่เป็นไปตามคาดการณ์ก็อาจจะส่งผลต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้นอีก

“เศรษฐกิจไทยยังโตได้ แต่เป็นการโตอ่อนๆ ต้องยอมรับว่าปัจจัยลบค่อนข้างเยอะ ขณะที่การส่งออกถูกบังคับให้เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทบจะตัวเดียว ดังนั้น ในทุกภาคส่วนควรหาทางที่จะสนับสนุนภาคการส่งออกให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ มิฉะนั้นก็จะอาจจะทำให้จีดีพีอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดไว้ลงไปอีก”
กำลังโหลดความคิดเห็น