xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี คาด กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี มองยังไม่จำเป็นต้องผ่อนปรนนโยบายการเงินเพิ่มเติมแม้ภาพเศรษฐกิจแผ่ว แต่ไม่ถึงขั้นอ่อนแอ ส่วนการเมืองมีสัญญาณดีขึ้น คาด กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25 ในการประชุมวันที่ 12 มีนาคมนี้

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 2.25 เกือบตลอดทั้งปีนี้  เพราะเป็นระดับผ่อนคลายเพียงพอที่จะช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ขณะเดียวกัน ก็ยังถือว่าไม่ผ่อนคลายมากเกินไปจนกระทั่งเกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ  ประกอบกับความไม่แน่นอนทางการเมืองที่กำลังส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจนั้น เป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงระยะสั้น ซึ่งพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังสามารถรองรับได้

ทั้งนี้ ในรายงานการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 22 มกราคม มีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่บ่งชี้ถึงภาวะชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งด้านการบริโภค และการลงทุน ซึ่งต้องยอมรับว่าบางส่วนเป็นผลจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองที่กระทบต่อความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอย อย่างไรก็ดี หากวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียด ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน และดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวในช่วงผ่านมา ส่วนหนึ่งถูกกระทบมาจากยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถยนต์นั่งเชิงพาณิชย์ที่ลดลงมาก หลังจากได้มีการเร่งซื้อไปก่อนหน้าที่นโยบายรถคันแรกสิ้นสุดลง อาจบิดเบือนภาพของการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชน ขณะที่องค์ประกอบอื่นด้านเครื่องชี้การบริโภค และการลงทุนไม่ได้ส่งสัญญาณการชะลอตัวลงทั้งหมด

นอกจากนี้ แม้ความไม่สงบทางการเมืองอาจทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างมากนับตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุม แต่จากตัวเลขของภาคการคลังระบุว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 การเบิกจ่ายยังคงขยายตัวได้ถึงร้อยละ 7.5 ซึ่งในส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนนั้นเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ทำให้เม็ดเงินจากภาครัฐนั้นไม่ได้สูญหายไปจากระบบทั้งหมดอย่างที่หลายฝ่ายกังวล

ส่วนความหวังหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้จากการส่งออก แม้ตัวเลขมกราคม หดตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี ทำให้มีข้อกังขาว่าการส่งออกจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในปีนี้เหมือนจะเลือนราง อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่า การหดตัวลงเป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง และการส่งออกหมวดยานยนต์ที่หดตัวถึงร้อยละ 22.0 จากการที่ผู้ผลิตรถยนต์ได้เปลี่ยนโมเดลใหม่ในผลิตภัณฑ์หลายตัว ทำให้เกิดรอยต่อของการส่งออก ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบเพียงชั่วคราวเท่านั้น ในขณะที่การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า กลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งในด้านตลาดส่งออก การส่งออกไปยังคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ล้วนมีการขยายตัว ช่วยผลักดันการส่งออกของไทยในระยะต่อไป

อีกปัจจัยหนึ่งที่น่ากังวลคือ เงินเฟ้อ แม้ว่าในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็พลิกกลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างชัดเจน โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งเป็นเป้าหมายเงินเฟ้อของแบงก์ชาติ เร่งตัวขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.22 ต่อปี ขยายตัวเกินกว่าเท่าตัว จากร้อยละ 0.61 ในเดือนกันยายนปีก่อน ซึ่งนับว่าเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ กนง. ต้องให้น้ำหนักมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพด้านราคาในระยะถัดไปได้

ทั้งนี้ ทางศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่า การชะลอตัวเพิ่มเติมของเศรษฐกิจในช่วงต้นปี เป็นผลมาจากการขาดความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือน และธุรกิจ ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลานี้ อาจทำให้กลไกการส่งผ่านของอัตราดอกเบี้ยในการกระตุ้นเศรษฐกิจไร้ประสิทธิผล อีกทั้งความตึงเครียดของสถานการณ์การเมืองที่คลายตัวลงบ้างในปัจจุบัน หลังทั้ง 2 ฟากของความขัดแย้งเริ่มหันหน้ามาเจรจากัน นับว่าเป็นสัญญาณบวกที่อาจชี้ถึงพัฒนาการของสถานการณ์ไปในทางที่ดีขึ้นได้ หากความวุ่นวายจบลงโดยเร็ว ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนก็จะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงเวลาอันสั้น ดังนั้น ปัจจัยที่เสริมให้มีการคงดอกเบี้ย น่าจะยังมีน้ำหนักมากกว่าปัจจัยทางด้านที่หนุนให้มีการลดดอกเบี้ย จึงอาจเร็วเกินไปที่ กนง. จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยในครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น