“ทีเอ็มบี” ฟันธง กนง.ยังไม่ลดดอกเบี้ยแก้ปัญหาแค่ช่วงสั้น และไม่ช่วยให้กำลังซื้อเพิ่ม คาดเก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็น ลุ้นการเมืองใกล้จบ เตรียมปลดล็อก ศก. คลี่คลายปมภาวะเงินฝืดที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ สืบเนื่องจากกำลังซื้อภายในประเทศที่หดหายไปมาก โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 12 มี.ค.นี้ จะไม่มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมทั้งคาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25% เกือบตลอดทั้งปี 2557 นี้ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น ขณะที่อัตราดังกล่าวถือว่าเป็นระดับผ่อนคลายเพียงพอที่จะช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้แล้ว
ศูนย์วิเคราะห์ฯ ทีเอ็มบี เชื่อว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องผ่อนปรนนโยบายการเงินเพิ่มเติม เพราะแม้ว่าภาพรวมทางเศรษฐกิจอาจแผ่วลงแต่ก็ไม่ถึงขั้นอ่อนแอ โดยทางศูนย์มีความเห็นสอดคล้องกับรายงานประชุม กนง.ครั้งก่อนว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่กำลังส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจนั้น เป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงระยะสั้น ซึ่งพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังสามารถรองรับได้
ทั้งนี้ แม้ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดนับตั้งแต่ประชุม กนง. เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา จะบ่งชี้ถึงภาวะชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศทั้งด้านการบริโภค และการลงทุน ทว่า หากวิเคราะห์รายละเอียดจะพบว่าส่วนหนึ่งถูกกระทบมาจากยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถยนต์นั่งเชิงพาณิชย์ที่ลดลงมาก หลังนโยบายรถคันแรกสิ้นสุดลง ซึ่งอาจบิดเบือนภาพการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชน ขณะที่องค์ประกอบอื่นด้านเครื่องชี้วัดการบริโภค และการลงทุนไม่ได้ส่งสัญญาณชะลอตัวลงทั้งหมด
นอกจากนี้ แม้ความไม่สงบทางการเมืองอาจทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุม แต่จากตัวเลขของภาคการคลังระบุว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 การเบิกจ่ายยังคงขยายตัวได้ถึงร้อยละ 7.5 ซึ่งในส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนนั้นเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ทำให้เม็ดเงินจากภาครัฐนั้นไม่ได้สูญหายไปจากระบบทั้งหมดอย่างที่หลายฝ่ายกังวล
อย่างไรก็ตาม ความหวังจากการส่งออกในปีนี้ แม้ตัวเลขเดือน ม.ค. จะหดตัว 2% ต่อปี ทำให้มีข้อกังขาว่า การส่งออกจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในปีนี้เหมือนจะเลือนราง อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิเคราะห์ฯมองว่า การหดตัวลงเป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง และการส่งออกหมวดยานยนต์ที่หดตัวถึง 22% จากการที่ผู้ผลิตรถยนต์ได้เปลี่ยนโมเดลใหม่ในผลิตภัณฑ์หลายตัว ทำให้เกิดรอยต่อของการส่งออกซึ่งจะเป็นปัจจัยลบเพียงชั่วคราวเท่านั้น
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า การประชุมของ กนง. ในวันที่ 12 มี.ค.นี้ กำลังถูกจับตามองว่าจะดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (repo) จากระดับ 2.25% ในขณะนี้หรือไม่ เพื่อช่วยคลี่คลายปมภาวะเงินฝืดที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ สืบเนื่องจากกำลังซื้อภายในประเทศที่หดหายไปมาก โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จากการสำรวจของหอการค้าไทยลดลงต่ำสุดในรอบ 12 ปี 4 เดือน นับตั้งแต่พฤศจิกายน 2544 เป็นต้นมา ที่ระดับ 69.9 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ลดจาก 71.5 ในเดือนมกราคม 2557 ซึ่งลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11
กำลังซื้อในประเทศที่หดตัวลง ส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าในเดือนมกราคม ที่ติดลบถึง 12.9% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นการลดลงในหมวดสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค 12% สินค้าทุนลดลง 17% หมวดอื่นๆ ลดลง 64% ในจำนวนนี้เป็นการลดลงของหมวดรถยนต์ถึง 31% มีเพียงหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบ ที่เพิ่มขึ้น 1.1% ซึ่งภาพดังกล่าวเป็นการสะท้อนจากความกังวลของผู้ประกอบการที่กังวลว่า หากมีการผลิตสินค้าออกสู่ตลาดแล้ว จะขายไม่ออก ทำให้ภาพรวมของการลงทุนในภาคเอกชนอยู่ในระดับที่ติดลบไปด้วยถึง 8.6% เนื่องจากการใช้จ่ายในประเทศที่อ่อนแอ และการส่งออกหดตัวลง ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่องดังกล่าว
นอกจากนี้ แนวโน้มของสินเชื่อที่ชะลอตัวลง จากการที่ภาคครัวเรือนเพิ่มความระวังการใช้จ่ายตามความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคตที่ลดลง เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และการเมือง โดยเฉพาะสินเชื่อภาคครัวเรือนมีอัตราที่ชะลอตัวต่อเนื่องเอง หลังจากที่ทิศทางหนี้ครัวเรือนได้พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องจากรายงานของ ธปท.เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 3 ในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็นยอดหนี้สูงถึง 9.4 ล้านล้านบาท หรือ 81% ของจีดีพี และหากว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2557 นี้มีการชะลอตัวลงที่ระดับ 3% หรือต่ำกว่านั้น ก็จะยิ่งซ้ำเติม และกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนได้
สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ก็คือ ถ้าหากว่าจีดีพีไม่อาจจะเติบโตในระดับที่สร้างรายได้ให้เพียงพอต่อภาระหนี้ของภาคครัวเรือนจนเกิดภาวะที่ผิดนัดชำระหนี้ หรือกระทบต่อภาวะการจ้างงาน ที่ทำให้ต้องมีการปลดคนงานกันแล้ว ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นชั่วคราว โดยเฉพาะปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น นำไปสู่การไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่ถาวรเข้ามาบริหารประเทศได้แล้ว ความหวังในเรื่องการลงทุนจากภาครัฐ ที่มีสัดส่วนถึง 16% ของงบประมาณ 2.25 ล้านล้านบาท ว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น จะกลายเป็นความสิ้นหวังไปโดยง่ายดาย
การประชุมของ กนง. ในวันพุธที่ 12 มี.ค.นี้ จึงเป็นความท้าทายอีกครั้งหนึ่ง โดยเสียงโหวตครั้งที่ผ่านมา ให้คงดอกเบี้ยมาตรฐานไว้เท่าเดิมอย่างเฉียดฉิวด้วยเสียง 4 ต่อ 3 แต่เหตุผลความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่มีความอ่อนแอ และซบเซา ทำให้ กนง.อาจต้องหันมามองอีกด้าน โดยพลิกโหวตอย่างเฉียดฉิวลดดอกเบี้ยลงเพื่อคลี่คลายภาวะเงินฝืด และช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่าลง หลังจากที่ ธปท. ดำเนินนโยบายให้ดัชนีค่าเงินบาท หรือ NEER (Nominal Effective Exchange Rate) แข็งค่าทะลุเกิน 102.35 ในขณะนี้