ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มสัปดาห์หน้า (14-18 เม.ย.) เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 32 บาท 15 สตางค์ ถึง 32 บาท 45 สตางค์ต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยต้องจับตาสถานการณ์การเมืองไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน เม.ย. ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค การผลิตภาคอุตสาหกรรม การเริ่มสร้างบ้านและการขออนุญาตก่อสร้างเดือน มี.ค. ข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิ สต๊อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือน ก.พ. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดอาจจับตาการประกาศตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 1/57 ของจีน (16 เม.ย.) ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ตลาดการเงินไทยจะปิดทำการในวัน 14-15 เม.ย.2557 เนื่องในวันชดเชยวันสงกรานต์ โดยคาดว่าระหว่างวันที่ 16-18 เม.ย.2557 จะมีสภาพคล่องไหลกลับสู่ระบบหลังวันหยุดยาว ขณะที่ธนาคารพาณิชย์จะมีการปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์ และเข้าสู่ปักษ์ใหม่ในวันพุธ รวมทั้งจะมีการตัดจ่ายเงินภาษีมูลค่าเพิ่มรายเดือนผ่านระบบธนาคารในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินน่าจะยังทรงตัวต่อเนื่องใกล้ระดับ 2.00%
พร้อมสรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฎว่า เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ใกล้ 32 บาท 15 สตางค์ต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงซื้อคืนจากนักลงทุน หลังการชุมนุมของหลายกลุ่มการเมืองผ่านพ้นไปโดยปราศจากเหตุรุนแรง นอกจากนี้ เงินบาท และสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ยังได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากเงินทุนไหลเข้า และทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ หลังรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สะท้อนว่า จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในปีหน้า ยังคงไม่แน่นอน อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกลงเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ตามการปรับโพสิชันของนักลงทุนก่อนช่วงวันหยุดยาวของตลาดในประเทศ
โดยในวันศุกร์ (11 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.26 เทียบกับระดับ 32.52 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (4 เม.ย.) ขณะที่เงินยูโรอยู่ที่ 1.3888 เทียบกับ 1.3702 ดอลลาร์ต่อยูโร ในวันศุกร์ก่อนหน้า (4 เม.ย.) ส่วนเงินเยนอยู่ที่ 101.40 เทียบกับ 103.28 เยนต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า