xs
xsm
sm
md
lg

ราคาทองคำเริ่มอ่อนตัวต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ราคาทองคำในตลาดโลกช่วง 7 วันที่ผ่านมา (25 มีนาคม-1 เมษายน) ปรับลดลงถึง 3% เคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์  หลังจากทางการสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่เริ่มสดใสมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาส 4/2013 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงถึง 2.6% สูงกว่าประมาณการไว้เพียง 2.4%   ประกอบกับอัตราการว่างงานลดลงเป็นอย่างมาก  ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง  ดังนั้น กองทุนที่ถือครองทองคำโดยเฉพาะกองทุน SPDR ที่ถือครองทองคำเป็นจำนวนมมากออกมาขาย  โดยปัจจุบัน SPDR ถือครองทองคำอยู่ที่ 817 ตัน  จึงขอแนะนำให้นักลงทุนทองคำระยะสั้นชะลอการลงทุนออกไปก่อน

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าราคาทองคำจะเคลื่อนไหวต่ำสุดที่ 1,245.52 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์  และสูงสุดที่ 1,324.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์  โดยราคาทองคำในประเทศคงเคลื่อนไหวต่ำสุดที่ 19,000 บาทต่อน้ำหนักทอง 1 บาท และสูงสุดที่ 20,100 บาทต่อน้ำหนักทอง 1 บาท

เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  ปริมาณการใช้จ่ายเงินหยวนในการชำระสินค้าลดต่ำลงมาอยู่อันดับที่ 8 ของโลก เนื่องจากเงินหยวนอ่อนค่าลง ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่รัฐบาลจีนคาดไม่ถึง  เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลจีนพยายามส่งเสริมให้ทั่วโลกใช้เงินหยวนมากขึ้นด้วยความพยายามในการปฏิรูปเงินหยวนให้เคลื่อนไหวเสรีในตลาดโลกมากขึ้น  แต่ในความเป็นจริงรัฐบาลจีนยังคงเป็นผู้กำหนดค่าเงินหยวนในตลาด  การที่ธนาคารจีนนำมาตรการบางอย่างเข้ามาบริหารจัดการค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลง เป็นการดำเนินการเพียงเพราะต้องการสั่งสอนนักเก็งกำไรค่าเงินที่ทำให้ค่าเงินหยวนแข็งค่ามาหลายปี  แต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกลายเป็นว่าทั่วโลกเริ่มไม่มั่นใจที่จะใช้เงินหยวน  ดังนั้น รัฐบาลจีนคงต้องเงินหน้าปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้สามารถพึ่งพาการบริโภคในประเทศ มากกว่าพึ่งพาการส่งออกให้มากขึ้น

จากปัญหาที่รัสเซียผนึกไครเมียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย จนกลุ่มประเทศ G8 ยกเลิกการประชุม G8 ที่รัสเซียเปลี่ยนเป็นการประชุม G7 ที่ประเทศที่กรุงบริสเซลส์ ประเทศเบลเยียมแทน การเริ่มคว่ำบาตรรัสเซียทำให้เงินทุนไหลออกจากรัสเซียถึง 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนถอนเงินออกจากตลาดหุ้น และพันธบัตรรัฐบาลรัสเซียและเป็นการถอนออกก่อนที่ “ฟิทช์ เรตติ้ง” จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงมาเป็นลบ  นอกจากนี้ การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจยังทำให้ลูกค้าจากโลกตะวันตกชะลอการสั่งสินค้า ทำให้ธนาคารโลกส่งสัญญาณเตือนว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะดิ่งลง 1.1% ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการลงทุนในรัสเซีย และจะส่งผลกระทบไปถึงการบริโภคภายในประเทศรัสเซียให้หดตัวลงอย่างมาก  ตลอดจนธนาคารพาณิชย์ต้องเจอกับมาตรการที่เข้มงวดหากต้องการเข้าถึงตลาดทุนในต่างประเทศเพราะนักลงทุนต่างชาติก็อาจถอนทุนออกไปจากตลาดรัสเซีย

จึงมีคำขู่ออกมาจากรัสเซีย ว่า จะเลิกใช้เงินสกุลดอลลาร์เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ  อย่างไรก็ตาม เงินสกุลรูเบิล ก็ไม่ใช่สกุลเงินหลักที่นิยมใช้กันทั่วโลก ยกเว้นประเทศที่แบ่งแยกออกมาจากรัสเซียเท่านั้น  อีกประการหนึ่งที่ทำให้รัสเซียไม่สามารถเลิกใช้เงินดอลลาร์สหรัฐได้ง่ายอย่างที่คิด คือ รัสเซียจะต้องทำข้อตกลงกับกลุ่มประเทศผู้ค้าน้ำมันอย่าง โอเปก และอีกหลายชาติที่ขายน้ำมันให้เปลี่ยนมาใช้เงินสกุลอื่นในการชำระค่าน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม การคว่ำบาตรรัสเซีย ก็อาจส่งผลกระทบทำให้ราคาพลังงานโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปยุโรปที่พี่งพาพลังงานจากรัสเซียมาตลอด  ซึ่งรัสเซียผลิตน้ำมันได้วันละ 7 ล้านบาร์เรล และสหรัฐฯ เองก็บริโภคน้ำมันถึง  7 ล้านบาร์เรลต่อวันเช่นกัน  แม้แต่การผลิตเครื่องบินของบริษัทโบอิ้งเองก็ต้องพึ่งพาวัสดุไทเทเนียมจากรัสเซีย ทำให้การคว่ำบาตรรัสเซียจะกลายเป็นดาบ 2 คมที่ต้องใช้ความระมัดระวังให้ดี

ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่กลุ่ม BRICS  อินเดีย ถือเป็นประเทศที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจซบเซา ยอดส่งออกสินค้ามากกว่ายอดนำเข้าสินค้า ทำให้ขาดดุลการค้าอย่างมากในปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินรูปี ทำให้เงินรูปีอ่อนค่าลงอย่างมาก ส่งผลให้ธุรกิจ SME ได้รับผลกระทบ และการช่วยเหลือก็เป็นไปอย่างล่าช้าเพราะระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ  อีกทั้งยังทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคเอกชนล่าช้าออกไปด้วย แม้แต่นักลงทุนต่างชาติก็ไม่อาจหาช่องทางเข้าไปลงทุนได้  ส่งผลให้ยอดธุรกิจเกิดใหม่ลดลงอย่างมาก

หันมามองประเทศสิงคโปร์  รัฐบาลมีคำสั่งให้ธนาคารต่างๆ ปฏิบัติตามเกณฑ์บาเซิล 3 หรือการกำกับดูแลเงินทุน และสภาพคล่อง โดยกำหนดให้ธนาคารต้องกันเงินทุนสำรองเพิ่มเพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับการทำธุรกิจภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งสร้างความกังวลให้ธนาคารต้องรับภาระต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น  อย่างไรก็ตาม ยังคงมีธนาคารในสิงคโปร์ปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจ SME อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ผลการดำเนินงานของธนาคารในสิงคโปร์ในส่วนของสินเชื่อ SME ขยายตัวเพิ่มเป็น 11% มาอยู่ที่ 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา

ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่ม BRICS ที่มีปัญหาด้านการเมืองจนถึงขั้นประชาชนออกมาประท้วงรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาธุรกิจคอร์รัปชันต่างๆ ที่ทางรัฐบาลตัดงบประมาณด้านการศึกษา  สวัสดิการสังคม  การรักษาการเจ็บป่วย  และสาธารณูปโภคหลายอย่าง เพราะบราซิลต้องใช้เงินจำนวนมากในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2014 ซึ่งรัฐบาลบราซิล จำเป็นต้องทุ่มงบประมาณ 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐสร้างสนามกีฬาใหม่ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาคาร ที่พัก สาธารณูปโภค  รวมถึงต้องมีการปรับปรุงถนนใหม่หลายเส้นทาง เพื่อรองรับการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในครั้งนี้  การทุ่มงบประมาณดังกล่าวทำให้รัฐบาลบราซิลต้องเผชิญกับปัญหาฐานะทางการคลัง จนสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลบราซิลลงเหลือ BBB- ซึ่งถือว่าต่ำที่สุด

คงต้องเตือนธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดเล็ก หรือ SME ของหลายๆ ประเทศกำลังมีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จนทำให้ไม่อาจจะขยายขนาดธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นได้ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศเกาหลีใต้ ที่ยังคงมีความเสี่ยงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนทางการเงินที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอมาตราการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือมาตราการ QE3 อีกทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และการอ่อนค่าของเงินเยน  ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นอาจทำให้เงินวอนของเกาหลีใต้แข็งค่าขึ้นจากปัจจุบันอีก 5-7% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ  นักธุรกิจจึงควรทำประกันอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า หรือมีการเพิ่มค่าเงินในการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงใช้เงินยูโรที่มีเสถียรภาพมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น