xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจจีนยังช้าได้อีก หากอยากให้รวยยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปล่องควันพิษโรงงาน : ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจเชื่อว่า ถ้าหากปิดโรงงานไปจำนวนมาก หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบปัจจัยเศรษฐกิจบางอย่าง แม้จะทำให้เศรษฐกิจถดถอย แต่ก็เป็นฤกษ์งามยามดีสำหรับการต้อนรับเศรษฐกิจอันยั่งยืน (ภาพเอพี)
เอเจนซี - การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้ว แม้จะดูกังวลว่าเป็นอัตราขยายตัวได้ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 แต่หลายฝ่ายยังเชื่อว่า จีนควรรั้งเศรษฐกิจให้ช้าลงกว่านี้ได้อีก เพื่อพักให้มีการปฏิรูปปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน

โจ จาง อดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางจีน ผู้เขียนหนังสือ Inside China’s Shadow Banking: The Next Subprime Crisis? แสดงความเห็นว่า ประการแรกนั้น แม้ภาวะการเติบโตช้าอาจจะดูน่ากังวล แต่สำหรับบรรดานักลงทุนฯ ระยะยาว ก็มีความเห็นในทางตรงข้ามว่า เศรษฐกิจจีนยังรั้งรอได้อีกมาก เพราะว่ากันตามตรง ตลอด 30 ปี ของการเติบโตของเศรษฐกิจจีนนั้น ได้รับการกระตุ้นเร่งรวยเร่งโตโดยสารพัดความช่วยเหลือทางการเงินการคลัง ไม่ได้เงยหน้ามาทบทวนดูว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วกำลังทำให้เกิดหลุมเหวลึกที่จะเป็นภัยในระยะยาวทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ หนี้ภาครัฐ ไปจนถึงปัญหาสาธารณสุขซึ่งล้วนเชื่อมโยงกันหมดดังโดมิโน

ผู้เชี่ยวชาญฯ เชื่อว่า หากจะยับยั้งผลเสียในอนาคต รัฐบาลต้องเปลี่ยนเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ในจีน โดยควรจะใช้กลไกราคาที่เสรีกับ 3 เรื่อง คือ ราคาสาธารณูปโภคค่าน้ำค่าไฟโรงงาน การกำหนดสินเชื่อ/ดอกเบี้ย และมาตรการค่าเงินหยวน

โจ จาง อดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางจีน ผู้เขียนหนังสือ Inside China’s Shadow Banking: The Next Subprime Crisis? กล่าวว่า เขาต้องการให้รัฐบาลเก็บภาษีศุลกากร น้ำ ก๊าซ และไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ อาจจะ 2 - 3 เท่าเลยก็ได้ ซึ่งเขาคิดว่าเป็นความเหมาะสม

จาง กล่าวว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมา ต้นทุนสาธารณูปโภคยังไม่สัมพันธ์กับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งนำไปสู่การผลิตที่ล้นเกินและก่อมลพิษ อีกทั้งล้างผลาญทรัพยากร ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะจัดการด้วยมาตรการที่เข้มงวด แต่ก็ไม่สามารถลดทอนกำลังการผลิตเหล่านั้นได้ เพราะกิจการเหล่านั้น ไม่ได้ทำกิจการตามรายจ่ายหรือต้นทุนที่เหมาะสม

ดังนั้น หากใช้กลไกราคาต้นทุนแล้วทำให้เศรษฐกิจจะถดถอยบ้าง จนต้องปิดกิจการเหล่านั้นไปอีกมาก ก็อาจจะเป็นการดีต่อเศรษฐกิจจีนในระยะยาว

ประการที่สอง ผู้เขียนหนังสือฯ ระบุว่า 35 ปีที่ผ่านมานั้น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารจีน ยังไม่ได้ตอบแทนการอดออมของผู้ฝากเงินได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และที่แน่นอนคือ อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก นั้นต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่ธนาคารพยายามช่วยให้คนเอาเงินออกมาใช้มากกว่า โดยการกดดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ ทำให้เกิดการกู้ที่ไม่เกิดดอกผลจำนวนมาก สร้างการผลิตล้นเกิน เกิดเศรษฐกิจเทียมจำนวนมาก และนานเกินไปโดยไม่เกิดผลดีต่อการค้าในระยะกลางและระยะยาว

ในด้านนี้ นายทัน คิม นักเศรษฐศาสตร์จาก สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ กล่าวว่า การอนุมัติสินเชื่อให้กับโครงการต่างๆ ของรัฐบาลท้องถิ่น จนกลายเป็นหนี้สินที่ก่อขึ้นอย่างไม่โปร่งใส ไร้ผลตอบแทน กำลังจะทำระบบการเงินทั้งระบบของประเทศล้ม เพราะรัฐบาลกลางต้องเข้าไปอุ้มแบกเกินกำลัง และอีกไม่นานคงมีมาตรการหรือระบบการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลท้องถิ่น นอกจากนั้นยังอาจะมีพันธบัตรเทศบาลเพื่อแก้ปัญหาฯ

นายทัน คิม กล่าวว่า ปัญหาความเสี่ยงหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น ยังเป็นเรื่องใหญ่ในปีนี้ และจะน่ากลัวมากหากเงื่อนไขสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย

ประการที่สาม อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวน ก็เป็นเรื่องที่ควรจะมีการปฏิรูปในช่วงชะลอตัวทางเศรษฐกิจนี้ ด้วยความจริงที่ว่า จีนได้ใช้นโยบายตรึงเงินหยวน ไว้ที่ 8.28 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา จนทำให้จีนมีสถานะภาพเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นมูลค่าสูง รวมทั้งมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากกว่า 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลภาวะเศรษฐกิจของจีนขยายตัวอย่างร้อนแรง มาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะเหมือนว่าเป็นเรื่องได้ประโยชน์หากจะต่อกรกับมหาอำนาจดอลลาร์ และยูโรฯ อย่างไรก็ตาม โจ จาง ยืนยันว่า การบิดเบือนค่าเงินให้ต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น ในระยะยาว ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศจีนแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสกุลเงิน จะลดทอนรายได้ที่แท้จริงของผู้บริโภค ขณะที่เงินอุดหนุนภาคครัวเรือน ที่รัฐจ่ายให้กับภาคธุรกิจ จะกดดันการบริโภคภาคเอกชนในทางอ้อม จนไม่รู้ว่าอะไรคือราคาที่แท้จริง ซึ่งหากปรับนโยบายแล้วทำให้เกิดการบริโภคตามความเป็นจริง ก็จะทำให้เศรษฐกิจจริงอยู่ได้ เศรษฐกิจปลอมและไม่ยั่งยืนหดหายไป

การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของจีน ด้วยการโหมมาตรการทางการเงินและการคลัง ถึงวันหนึ่งจะต้องหยุด เพียงแต่จะเป็นเมื่อไหร่และอย่างไร

การอุ้มกิจการที่ก่อหนี้มโหฬาร-ผลตอบแทนต่ำในภาครัฐ การกดค่าแรงต่ำเพื่อสู้กับกลไกราคาสินค้าในตลาดโลก อันเป็นโมเดลธุรกิจยุคบุกเบิกนั้น อาจจะยังคงใช้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดต่อชาวจีน ดังนั้น นายโจ จาง ผู้เขียนฯ จึงสรุปว่า ในปีนี้ ที่สุดแล้ว จีนควรเร่งใช้ปัจจัยทางด้านภาษี อัตราดอกเบี้ย และอัตราค่าแลกเปลี่ยนสกุลเงินหยวน เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจริงจัง


กำลังโหลดความคิดเห็น