สศค. กำชับแบงก์รัฐเร่งดูแลลูกหนี้ใกล้ชิด ยอมรับกังวลข้อมูลเอสเอ็มอีเริ่มทยอยปิดกิจการ แนะหากขาดส่ง 1-2 เดือน ต้องเข้าไปโด๊ปยาทันที พร้อมสั่งติดเทอร์โบปล่อยสินเชื่อเพื่อกระตุ้น ศก.มั่นใจผลงานแบงก์รัฐปี 57 ฉลุยตามเป้าที่วางไว้ 1.3 ล้านล้านบาท
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.เชิญผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (แบงก์รัฐ) มาหารือ ให้เร่งปล่อยสินเชื่อในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่น ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)
ทั้งนี้ สศค.ยังคงเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อของแบงก์รัฐทั้งระบบในปี 2557 ไว้ที่เป้าหมายเดิม คือ 1.3 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นการปล่อยสินเชื่อจากธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยภาพรวมการปล่อยสินเชื่อของแบงก์รัฐทั้งระบบในช่วง 2 เดือนแรก ยังทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
สำหรับกรณี 3 ธนาคารที่ยังไม่มีกรรมการผู้จัดการ คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ทางฝ่ายที่รักษาการให้การยืนยันว่า จะเดินหน้าตามแผนธุรกิจที่เสนอไว้ต่อกระทรวงการคลัง
นอกจากนี้ ยังให้แบงก์รัฐทุกแห่งเกาะติดลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และมีแนวโน้มจะเป็นหนี้เสียให้ดูแลลูกค้ากลุ่มนี้เป็นพิเศษ โดยยึดจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ที่พบว่า มียอดธุรกิจเอสเอ็มอีที่แจ้งขอปิดกิจการเพิ่มสูงขึ้น ล่าสุด ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แบงก์รัฐยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ในเดือน ม.ค.อยู่ที่ 5.34% ลดลงจากเดือน พ.ย.2556 ที่อยู่ระดับ 5.8%
“เชิญมาฟังเรื่องเศรษฐกิจว่าอันไหนมีปัญหา ที่ห่วงมากคือ พวกเอสเอ็มอี จึงอยากให้แบงก์รัฐอย่าเกียร์ว่างให้เร่งปล่อยกู้ปิดแก๊ปส่วนนี้ รวมทั้งให้เกาะติดลูกหนี้กลุ่มที่เป็นพีแอล หรือกลุ่มที่เริ่มขาดส่งหนี้ 1-2 เดือน ให้ดูแลอย่างใกล้ชิดไม่เป็นหนี้เสีย”
นายสมชัย กล่าวยอมรับว่า ที่ผ่านมา รักษาการนายกรัฐมนตรีฝากเรื่องการปล่อยกู้ภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะได้รับรายงานว่า ธนาคารพาณิชย์ชะลอการปล่อยกู้ซื้อบ้าน ส่วนการปล่อยกู้ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ถือว่าทำตามภารกิจ คือ การปล่อยกู้ซื้อบ้านให้รายย่อย