xs
xsm
sm
md
lg

“ASP” เผยไครเมียแยกจากยูเครนกระทบช่วงสั้น จับตาส่อเค้าสงครามเย็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โบรกฯ ชี้จับตาไครเมียแยกออกจากยูเครน ซบอกหมีขาว เล็งท่าทีสหรัฐฯ&ยุโรปคว่ำบาตรจ่อเชือดนิ่มๆ ส่วนการเมืองในประเทศจับตายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กลับไปใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฉบับเดิม แนะเล็งเข้าสะสมหุ้นกลุ่มได้ประโยชน์จากนโยบายการลดดอกเบี้ย และ P/E ต่ำ

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ นักวิเคราห์กลยุทธ์การลงทุน บล.เอเซีย พลัส หรือ ASP กล่าวว่า แม้การลงประชามติของประชาชนในแคว้นไครเมีย (เขตปกครองตนเองของยูเครน) 96.8% จะเลือกที่จะแยกดินแดนจากยูเครน แต่สถานการณ์โดยรวมก็ยังไม่ได้ตึงเครียดมากไปกว่าที่ตลาดคาดไว้ ทำให้ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปมีการฟื้นตัวแรง โดยดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นมา 1.13% ดัชนี FTSEEurofirst 300 บวกขึ้นมา 1.02% แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยมองว่ายังไม่ควรที่จะประมาทต่อสถานการณ์ในยูเครน แม้จะมีการลงประชามติไปแล้ว แต่ขั้นตอนต่อไปสภาไครเมียจะประชุมกันเพื่ออนุมัติการรวมเข้ากับรัสเซียอย่างเป็นทางการ อันเป็นกระบวนการที่อาจใช้เวลาหลายเดือน ทั้งยังเผชิญความไม่แน่นอนเพราะไครเมียยังต้องพึ่งพายูเครนอยู่มาก นอกจากนั้น อาจต้องติดตามท่าทีของสหรัฐฯ และยุโรปที่จะออกมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ แก่รัสเซีย

สำหรับสถานการณ์การเมืองในประเทศ วานนี้ 6 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้แก่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้แถลงข้อเสนอทางออกจากวิกฤตการเมือง โดยการให้คู่กรณี ได้แก่ รัฐบาล และ กปปส. เสนอรายชื่อคนกลางฝ่ายละ 10 คน เพื่อนำรายชื่อผู้ถูกเสนอที่ตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย จำนวน 5 คนมาทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อหาทางออก แต่ประเมินจากปฏิกิริยาทั้งจากฝ่ายรัฐบาล และ กปปส. ดูเหมือนจะไม่ตอบรับข้อเสนอนี้ ทำให้คาดหวังที่จะเห็นความคืบหน้าในการหาทางออกผ่านช่องทางนี้ได้ค่อนข้างยาก

สำหรับกรณีที่ ส.ว.27 คน ยื่นเรื่องผ่านประธานวุฒิสภาไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเรื่องสถานภาพการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่าสิ้นสุดลงตามมาตรา 180, 182(7), 266 (2) (3) และ 268 หรือไม่ ล่าสุด สำนักงานเลขาธิการ ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้วเมื่อวันที่ 17 มี.ค.2557 (วันจันทร์ที่ผ่านมา) ส่วนกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นให้วินิจฉัยว่า การเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 เป็นโมฆะหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดไต่สวนในวันที่ 19 มี.ค.2557 ส่วนจะมีคำวินิจฉัยออกมาเมื่อใดต้องรอฟังคำสั่งศาลอีกครั้ง

โดยภาพรวมของสถานการณ์การเมืองเห็นได้ชัดเจนว่า ได้มีพัฒนาการจากการที่ใช้มวลชนชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาล มาสู่การใช้ช่องทางกฎหมายโดยการยื่นคำร้องในเรื่องต่างๆ ขึ้นสู่การพิจารณาของทั้งทาง ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ เป็นหลัก ซึ่งเป็นไปได้ที่จะเห็นผลการวินิจฉัยในหลายเรื่องออกมาในช่วงปลายเดือน มี.ค. หรือ เม.ย.2557 ซึ่งอาจนำไปสู่จุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่ยังคาดการณ์ถึงผลได้ค่อนข้างยาก นักลงทุนควรติดตามในฐานะปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อ SET Index

ขณะที่การประชุม ครม. วันนี้ คาดว่าจะไม่ต่ออายุ หรือยกเลิกประกาศการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ กลับมาประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงตามเดิม ซึ่งอาจกระตุ้นการเก็งกำไรใน AOT, ERW, CENTEL และ MINT ต่อ อย่างไรก็ตาม ตลาดตอบรับต่อเรื่องนี้ไปมากแล้ว ควรระวังแรงขาย Sell on Fact

“ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดแม้มูลค่าการซื้อขายจะไม่ได้มากมาย แต่ก็ไม่ได้น้อยจนน่ากลียด ภาพแบบนี้มีโอกาสที่จะขึ้นต่อสูง ซึ่งเป้าต่อไปก็ต้องเป็นแนว SMA 200 วันที่ 1,389 จุด เบื้องต้นยังเชื่อว่าไม่น่าจะผ่านไปได้ง่ายๆ แต่ถ้าเกิดรอบนี้ SET Index เอาจริง ขึ้นผ่าน 1,389 จุดได้ แนวต่อไปก็นู่นเลย 1,430 จุด”

โดยกลยุทธ์การลงทุนวันนี้แนะนำหุ้นเก็งกำไรในการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน CPN, CENTEL, ERW และหุ้นได้ประโยชน์จากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย RML, SPALI, AP ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยตั้งแต่แนะนำเกิน 6% วันนี้แนะนำให้ทยอยขายทำกำไร ส่วนที่เหลือยังให้คงน้ำหนักการลงทุน 40% ในชุดหุ้น EPS Growth, สูง P/E ต่ำกว่าเฉลี่ยกลุ่ม เลือก DTAC, INTUCH, STEC, SGP, M และ BBL
กำลังโหลดความคิดเห็น