xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ ห่วงการเมืองฉุด ศก.ลงทุน ใช้จ่ายวูบ หวังส่งออกพยุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ จับตาปัจจัยการเมืองไทยมีความเสี่ยงสูง และหากยืดเยื้อจะกระทบต่อภาคการลงทุน บริโภค ประเมินกรณีปกติเรื่องจบมีรัฐบาลชุดใหม่ทันในครึ่งปีแรก ส่งออกฟื้น จีดีพีโต 4.5% แต่หากยืดเยื้อดิ่งสุดอาจโตแค่ 0.5% ส่วนกรณีการลด QE แม้กระทบบ้าง แต่มั่นใจรับมือได้

ดร.พิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2557 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังให้น้ำหนักที่ทิศทางการเมืองในระยะข้างหน้าที่ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ในด้านการบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมทั้งยังมีผลต่อการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐ โดยเฉพาะงบลงทุน

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศนั้นถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยในส่วนของสหรัฐฯ ความคืบหน้าล่าสุดมีข้อสรุปในเรื่องของงบประมาณแล้ว ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงในเรื่อง shut down ลดลง แต่ทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่เฟดจะลดวงเงิน QE ในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะทำให้เกิดความผันผวนต่อเงินทุนไหลเข้า-ออกในภูมิภาคนี้ ขณะที่ยุโรปนั้นมีความชัดเจนแล้วว่าได้ผ่านพ้นจุดต่ำไปแล้ว ด้านจีน และญี่ปุ่น น่าจะเติบโตได้ในระยะที่ใกล้เคียง ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้น่าจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ส่งออกปีหน้าเติบโตที่ระดับ 7%

ทั้งนี้ การคาดการณ์เศรษฐกิจท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองนั้น จะแบ่งเป็น กรณีปกติ แบบพื้นฐานภาคการเมืองมีการเลือกตั้ง หรือหาทางออกได้ จัดตั้งรัฐบาลได้ภายในครึ่งปีแรกและมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา และส่งออกโตตามเป้า คาดว่าจีดีพีโต 4.5% แต่หากเป็นกรณีขั้นต่ำที่การส่งออกไม่เป็นไปตามเป้าโตแค่ 5% จีดีพีก็จะโตประมาณ 3.7%

แต่หากเป็นกรณีการเมืองขัดแย้งยื้อเยื้อ ทำให้การบริโภคเอกชน และการลงทุนสะดุดการเติบโตเป็น 0% แต่การส่งออกยังโตได้ตามเป้า จีดีพีจะเติบโต 2.5% แต่หากปัญหาการเมืองยืดเยื้อ-การส่งออกไม่เป็นไปตามเป้าโตเพียง 3% จีดีพีก็อาจจะโตเพียง 0.5% เท่านั้น ส่วนในครึ่งปีแรกจีดีพีน่าจะขยายตัวได้ไม่เกิน 2%

“ตอนนี้ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้าเท่าที่เป็นไปได้ในขณะนี้ก็คือ การส่งออก ที่จะได้ผลบวกจากเศรษฐกิจโลกที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะหากปัญหาการเมืองยืดเยื้อ ภาคการลงทุนภาคเอกชน รวมไปถึงภาคการบริโภคที่ยังอ่อนแอ และถูกกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่สูง และเศรษฐกิจที่ชะลอมาจากปีนี้ ก็แทบจะขยายตัวไม่ได้เลย ส่วนการลงทุนภาครัฐนั้น ทางศูนย์วิจัยได้ลดการวงเงินลงทุนที่นำมาคำนวณไปบ้างแล้ว เหลือในระดับเล็กน้อยเท่านั้น”

NPL หนี้ครัวเรือนส่อแววเพิ่ม

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวเสริมว่า การประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจในช่วงที่มีความไม่แน่นอนทางการเมืองเช่นนี้ ช่องว่างขั้นสูง-ต่ำของแต่ละตัวเลขค่อนข้างจะกว้าง แต่เชื่อว่าใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้ หากภาคการเมืองมีความชัดเจนขึ้น ช่องว่างนี้ก็จะค่อยๆ แคบลง

สำหรับผลกระทบจากการลดวงเงิน QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้น ก็จะส่งผลกระทบต่อเงินทุนไหลออกในระดับหนึ่ง แต่ก็เชื่อว่าไม่มากนัก หากไม่มีปัจจัยอื่นเข้ามาแทรก เพราะตลาดได้รับรู้ข่าวไปในระดับหนึ่งแล้ว และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยยังอยู่ในระดับที่สูงพอ แต่ผลกระทบดังกล่าวต่อเนื่องไปที่ค่าเงินบาทที่จะผันผวนต่อไปอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องมีความระมัดระวัง

นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ต้องจับตาดูก็คือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในกลุ่มของผู้มีรายได้ต่ำ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาก และหากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอทำให้รายได้บางส่วนลดลง เช่น เงินค่าล่วงเวลา (โอที) ก็อาจมีผลต่อการชำระหนี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น