ศูนย์วิจัยฯ ธ.ไทยพาณิชย์ มอง ศก.ไทย ปี 56 โตได้แค่ 3.4 % ต่ำกว่าที่ตั้งไว้ 4% ส่งออกโตเหลือ 1.5% พร้อมมอง กนง. อาจต้องคง ดบ.นโยบาย 2.5% ยาวไปถึงปีหน้า ส่วนแนวโน้มปี 57 คาดแนวโน้ม ศก. น่าจะดีขึ้น แต่ยังไม่พ้นความเสี่ยง เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31-32 บาท/ดอลลาร์ แนะเอกชนเตรียมรับมือผันผวน
น.ส.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2556 โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 3.4% ต่ำกว่าการประมาณการเดิมที่ตั้งไว้ 4% เนื่องจาก การส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปี ขยายตัวได้เพียง 0.1%
นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ยังรวมถึงการบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะในหมวดยานยนต์ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด และการใช้จ่ายภาครัฐต่ำกว่าเป้าหมาย ทั้งในส่วนของการลงทุนในงบประมาณ และการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่นอกงบประมาณ รวมทั้งผลของความไม่ชัดเจนด้านการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และการปรับลดมาตรการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (คิวอี)
ดังนั้น ศูนย์วิจัยฯ จึงคาดว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวเพียง 1.5% ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2557 มองว่า จะขยายตัวได้ 4.5% เนื่องจากการส่งออกในปีหน้าอาจจะขยายตัวได้ถึง 8% เพราะสินค้าในกลุ่มยานยนต์ ส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าจะขยายตัวดีประมาณ 10% รวมทั้งแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่จะมีความชัดเจนเพิ่มขึ้น
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2557 มองว่าแนวโน้มค่าเงินบาทในปีหน้าคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะมีทิศทางดีขึ้น แต่ในช่วงต่อไปจะเกิดความผันผวนจากแนวโน้มการปรับลดมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ และจะส่งผลให้เกิดปัจจัยเงินทุนไหลออก ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตาม พื้นฐานเศรษฐกิจไทยจะยังคงแข็งแกร่งพอรองรับเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนั้น ภาคเอกชนไทยควรเตรียมรับมือกับความผันผวนของค่าเงินบาท ที่อาจอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในระยะสั้นจากมาตรการ QE แต่ทั้งนี้เชื่อว่าไทยจะไม่ประสบปัญหาการขาดดุลการชำระเงิน เช่นเดียวกับเหตุการณ์ปี 2540 เพราะปัจจัยพื้นฐานที่ดี ประกอบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงถึง 2.7 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในปีนี้ จะคงดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2557 จากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และภาวะหนี้ครัวเรือนที่เริ่มคลี่คลายลงตามลำดับ ทั้งนี้ ยังต้องตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของเงินทุน และการใช้จ่ายภายรัฐตามแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นปัจจัยต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ย