ธปท.เผยยอดขอเปิดสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างชาติในไทยไม่คึกคัก เนื่องจาก ศก.โลกยังซบเซา ส่งใหญ่ที่ยื่นเข้ามาเป็นธนาคารในเอเชีย และอาเซียน ส่วนธนาคารฝั่งตะวันตกยังเงียบ พร้อมมองว่าการเปิดให้ยื่น 5 รายนั้น น่าจะเพียงพอ
นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อํานวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กรณีที่ ธปท. เปิดให้สถาบันการเงินต่างชาติสามารถยื่นขอจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของต่างประเทศในไทยได้นั้น ปัจจุบัน มีธนาคารต่างชาติยื่นขออนุญาตมาบ้างแล้ว แต่ไม่ได้มากอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ ส่วนหนึ่งอาจเพราะเศรษฐกิจโลกยังมีปัญหา อย่างไรก็ตาม ธปท.มองว่า การเปิดให้ยื่น 5 รายนั้นน่าจะเพียงพอ
“ที่ผ่านมามีธนาคารต่างชาติได้ขอยื่นประกอบกิจการในไทยบ้างแล้ว แต่คงไม่มากอย่างที่หลายฝ่ายคาดคิด เพราะเศรษฐกิจโลกยังมีปัญหา ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรปก็ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ธนาคารในกลุ่มนั้นไม่ได้เข้ามายื่นขอประกอบการในประเทศไทย”
สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ยื่นขอใบอนุญาตเข้ามา ส่วนใหญ่เป็นธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย และกลุ่มอาเซียน อีกทั้ง ธปท.ยังกำหนดให้แต่ละธนาคารที่จะเข้ามาประกอบกิจการในไทยนั้น ต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่จะเข้ามายื่นต้องมั่นใจ และอยากทำธุรกิจในประเทศไทยจริงๆ และต้องเป็นธนาคารขนาดใหญ่ถึงจะสามารถเข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ จึงทำให้จำนวนผู้ที่ยื่นขออนุญาตดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยอาจไม่ได้มีมากอย่างที่คาดกัน
ทั้งนี้ การขอเข้ามาประกอบการในรูปแบบดังกล่าวนั้นต่างจากอดีตที่ผ่านมา ที่ธปท.มักจะให้ใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น หากจะขยายการให้บริการก็ต้องมาอัปเดตใบอนุญาตใหม่ให้มีขอบเขตให้บริการมากขึ้น แต่ในครั้งนี้เปิดให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาดำเนินกิจการแบบครบวงจร ธนาคารต่างชาติเหล่านั้นต้องเริ่มสร้างฐานลูกค้าจากศูนย์ จึงมองว่าผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้ามาในระยะแรกคาดว่าจะให้บริการกับลูกค้าธุรกิจก่อนแล้วจึงขยายฐานไปยังลูกค้ารายย่อย เพราะลูกค้ารายย่อยในไทยนั้นเจาะฐานค่อนข้างยาก
สำหรับการเปิดให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาดำเนินกิจการในไทยนั้นอาจทำให้การแข่งขันมากขึ้น และยิ่งการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ (เออีซี) ในปี 2558 จะมีมาตรฐานของธนาคารพาณิชย์อาเซียน (Qualified ASEAN Bank : QAB) ทำให้ธนาคารในกลุ่มอาเซียนมีโอกาสทำธุรกิจระหว่างกันมากขึ้น ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของอาเซียน อย่างในมาเลเซีย และสิงคโปร์ จะเข้ามามีบทบาทในอาเซียน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่สำคัญ โดยธนาคารที่ต้องการจะเป็นผู้นำอาเซียนต้องเข้ามาลงทุนในประเทศไทยทำให้สิ่งที่ต้องคิดกัน คือ ธนาคารของไทยจะมีศักยภาพในการรับมือกับการเข้ามาของธนาคารต่างชาติหรือไม่ และจะออกไปแข่งกับนอกประเทศอย่างไร
นอกจากนี้ หากนำศักยภาพของธนาคารพาณิชย์ไทยมาเปรียบเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นในอาเซียนนั้น พบว่า ของไทยยังเป็นรองอยู่หลายด้าน โดยธนาคารที่ใหญ่สุดของไทยมีขนาดเล็กกว่าธนาคารของมาเลเซีย และสิงคโปร์ ส่วนเครือข่ายในการขยายสาขาในต่างประเทศก็ยังเป็นรอง ที่ผ่านมา มีเพียงธนาคารกรุงเทพ ที่มีเครือข่ายใกล้เคียงกับธนาคารขนาดใหญ่อื่นๆ ของอาเซียน
โดยธนาคารไทยที่จะออกไปเปิดสาขาในต่างประเทศนั้น มักใช้กลยุทธ์โดยเน้นกลยุทธ์ตามกลุ่มธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศตามลูกค้าไป ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธปท.จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งตัวเลขที่แบงก์ไทยไปปล่อยกู้ให้แก่ต่างประเทศเยอะขึ้นมาก โดยส่วนใหญ่จะปล่อยกู้ในลูกค้าเอเชีย และอาเซียน ส่วนในยุโรปก็พอมีอยู่ โดยคุณภาพของสินเชื่ออยู่ในระดับที่ดี
ส่วนธนาคารของมาเลเซีย และสิงคโปร์นั้น จะแตกต่างออกไป โดยใช้วิธีเข้าซื้อกิจการธนาคารท้องถิ่น ทำให้ได้ฐานลูกค้าทันที และการเติบโตก็จะค่อนข้างเร็ว ซึ่งธนาคารของไทยหลายแห่งก็เริ่มคิดเรื่องนี้ และดำเนินการอยู่ แต่ก็ยังเป็นไปแบบระมัดระวัง และได้มีการวางแผนในการออกต่างประเทศ รวมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานจากเดิมที่จะตามผู้ลงทุนไปปล่อยสินเชื่อก็เริ่มมีการจับลูกค้าท้องถิ่นด้วย