“เอชเอสบีซี” วาดแผนรุกกลุ่มธุรกิจ ชูจุดเด่นเครือข่ายกว้างขวางใน 80 ประเทศเชื่อมโยงการลงทุนได้อย่างกว้างขวาง พร้อมเพิ่มทุนเตรียมลุยธุรกิจ มั่นใจเศรษฐกิจปีหน้าฟื้น ศก.โลก-การลงทุนภาครัฐหนุน แต่ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงด้านการเมือง
มิสแทน เซียว เมง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย เปิดเผยถึงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของธนาคารในประเทศไทย ว่า ธนาคารจะมุ่งเน้นขยายฐานในส่วนของลูกค้าธุรกิจเป็นหลัก หลังจากที่ได้ขายพอร์ตลูกค้ารายย่อยไปแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน โดยจะใช้จุดเด่นของธนาคารที่มีเครือข่ายสาขาต่างประเทศอยู่มากมาย จากปัจจุบัน สาขาเอชเอสบีซีมีอยู่ 6,600 สาขาใน 80 ประเทศ และมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถเติบโตได้ทั้งใน และต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทยด้วย
ทั้งนี้ ธนาคารมองว่าประเทศไทยมีจุดเด่นที่นักลงทุนให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย เนื่องจากมีภูมิศาสตร์ที่ดีมีอาณาเขตติดต่อกับหลายประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาครองจาก อินโดนีเซีย และมีประชากรมากเกือบ 70 ล้านคน จึงน่าลงทุนทั้งในส่วนของการลงทุนในประเทศ และขยายต่อไปยังประเทศอื่น โดยในช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารก็ได้เพิ่มทุนจำนวน 33% เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในไทย ทำให้มีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงในระดับ 17% ซึ่งสูง และเพียงพอต่อการขยายธุรกิจ
“เราคงไม่ได้เน้นไปที่ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจใดเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับความต้องการ และความแข็งแกร่งของลูกค้าเป็นหลัก ขณะที่ธนาคารเองมีความพร้อมในด้านเครือข่าย และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในการสนับสนุนอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากดีลใหญ่ๆ เมื่อไทยเปฟ และทีซีซี แอสเส็ตส์ กับเอฟแอนด์เอ็น หรือในประเทศล่าสุด การออกหุ้นกู้ของซีพีออลล์ 5 หมื่นล้านก็ลุล่วงไปด้วยดี และจะสามารถเติบโตได้ต่อไปด้วย”
ด้านอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยนั้น คาดว่าในปีนี้จะเติบโตในอัตรา 2.8% เนื่องจากการส่งออก และการบริโภคที่ชะลอตัวลง แต่ในปีหน้าจากทิศทางเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับจะมีเงินลงทุนจากโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของรัฐ 2 ล้านล้านบาทออกมาอีก จึงเชื่อว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะอยู่ในระดับ 4.4%
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ยังคงเผชิญความเสี่ยงในด้านของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนในระดับหนึ่ง รวมถึงปัจจัยในประเทศ ได้แก่ ปัจจัยทางด้านการเมืองที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และการลงทุนภาครัฐที่อาจจะล่าช้า
“โครงการสาธารณูโภคขนาดใหญ่เป็นเรื่องที่ควรต้องทำ เพราะจะช่วยในเรื่องศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว เป็นการดึงดูดการลงทุนได้ รวมถึงปัญหาการเมืองที่หากยืดเยื้อหรือส่งผลกระทบรุนแรงก็อาจจะทำให้เสียโอกาสเช่นกัน เพราะก็ยังมีประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่เป็นที่น่าสนใจของต่างชาติเหมือนกัน”